คลังชง ครม.ปรับภาษีบุหรี่ใหม่ ชาวไร่ยาสูบค้านขึ้นราคาซองละ 8-10 บาท

นายกฯ เรียก “รมว.คลัง” ถกข้อสรุปปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เล็งชง ครม. 28 ก.ย.นี้ ด้านสหภาพแรงงาน ยสท. บุกกระทรวงการคลัง ค้านข้อเสนอขึ้นราคาบุหรี่ 8-10 บาทต่อซอง หวั่นทำอุตสาหกรรมพังทั้งระบบ ซ้ำรอยขึ้นภาษีปี 2560 พร้อมทวงเงินเยียวยา 160 ล้านบาท

วันที่ 23 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียก รมว.คลัง ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพสามิต มาหารือเรื่องปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ซึ่งจะเสนอให้ ครม.พิจารณา โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลัง ได้อธิบายให้ทราบถึงหลักการพิจารณาขึ้นภาษี เหตุผลความจำเป็นที่จะต้องทบทวนให้กับนายกฯ รับทราบ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ หาก ครม.จะมีการพิจารณาวาระเรื่องใหญ่จะต้องแจ้งให้นายกฯ รับทราบก่อน โดยคลังจะมีการเสนอการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 28 ก.ย. นี้

สำหรับแนวทางการปรับภาษีบุหรี่ที่คลังเตรียมเสนอ ครม.คาดว่าจะทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเดิมกำหนดว่าตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป จะมีการขึ้นภาษีบุหรี่ซองไม่เกิน 60 บาท จาก 20% เป็น 40% ซึ่งอาจทำให้บุหรี่ขยับสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าซอง 20 บาท และส่งผลกระทบต่อธุรกิจยาสูบ ชาวไร่ รวมถึงอาจเกิดบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น จึงต้องทบทวนให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้นน้อยลงกว่าเดิมไม่ถึง 40%

โดยเน้นตอบโจทย์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบให้สามารถขายใบยาได้ในราคาที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระของรัฐ 2.การดูแลสุขภาพของประชาชน โดยไม่ส่งเสริมให้คนไทยสูบบุหรี่ 3.การปราบปรามบุหรี่เถื่อน และ 4.การเก็บรายได้ภาษีเข้ารัฐ

ด้านนายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ (ส.ร.ย.) เผยหลังนำตัวแทนพนักงาน ยสท. และตัวแทนชาวไร่ ภาคียาสูบแห่งประเทศไทย รวมกว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือที่กระทรวงการคลัง แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายสุขภาพที่ให้ขึ้นภาษีบุหรี่สูงขึ้นอีก เพื่อให้ราคาบุหรี่ขึ้นอีก 8-10 บาท เป็นราคาขั้นต่ำ 68-70 บาทต่อซอง

โดยนายสุเทพกล่าวว่า ตั้งแต่การขึ้นภาษีเมื่อปี 2560 ยสท. พยายามปรับตัวมาโดยตลอด เพราะต้องขายสินค้าแข่งกับแบรนด์ของผู้นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาเท่ากัน และบุหรี่เถื่อนที่ราคาต่ำกว่ามาก แม้ ยสท. จะยังพอมีกำไรอยู่บ้าง แต่เงินรายได้ที่ต้องส่งรัฐ 88% ก็หายไปกว่า 34,000 ล้านบาท เพราะไม่ได้นำส่งมา 4 ปีแล้ว หากกรมสรรพสามิตนำข้อเสนอการขึ้นภาษีบุหรี่จากเครือข่ายสุขภาพมาใช้จริง ไม่ใช่แค่รายได้ส่งรัฐจะหายไปอีก แต่ ยสท. ก็คงจะหายไปด้วย พนักงาน ยสท กว่า 2,000 ครอบครัวคงต้องกลายเป็นภาระสังคม

“ไม่อยากให้กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตผิดสัญญา เปลี่ยนจุดยืนของตัวเองที่เคยบอกว่าอยากให้บรรลุวัตถุประสงค์ 4 เรื่องทั้งแก้ปัญหาชาวไร่ รัฐมีรายได้ แก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนและบรรลุเป้าด้านสาธารณสุข แต่พอเอาจริงกลับจะเสียท่าให้หมอและเอ็นจีโอฝั่งสุขภาพ อยากให้เห็นใจคนในอุตสาหกรรมที่ยังต้องทำงานทำไร่ ส่งเสียครอบครัวเลี้ยงชีพบ้าง” นายสุเทพ กล่าว

ด้านนายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พวกเราชาวไร่ยาสูบทั้งสามสายพันธุ์ยอมเสี่ยงโควิดมายื่นหนังสือถึง รมว. คลัง และกรมสรรพสามิต เพื่อคัดค้านการเก็บภาษีที่สูงเกินไป จนทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นสูงมาก ที่ผ่านมาชาวไร่ยาสูบได้รับผลกระทบมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร เรื่องเงินชดเชย 160 ล้านที่รัฐรับปากว่าจะให้

ซึ่งได้ติดตามทวงถามมา 2 ปีแล้วยังไม่คืบหน้า แล้วถ้ามีการขึ้นภาษีบุหรี่สูงขนาดนั้นมันกระทบปากท้องชาวไร่กว่า 30,000 ครอบครัวแน่นอน จะทำให้ถูกตัดโควตาปลูกยาสูบเพิ่มอีก กระทบรายได้ที่เฉลี่ยอยู่ประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ ที่ผ่านมารายได้ของชาวไร่ยาสูบหายไปกว่า 900 ล้านบาทตลอด 4 ปี ภาษีที่สูงขนาดนั้นยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบ

นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบ จ.เพชรบูรณ์ อีกหนึ่งตัวแทนภาคีชาวไร่ฯ เสริมว่า ก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตบอกว่า การขึ้นภาษีจะพิจารณาอย่างดีไม่ให้เดือดร้อนชาวไร่ยาสูบ พวกเราก็อยากขอให้กรมสรรพสามิตและ รมว. ยึดมั่นในหลักการที่จะไม่ทำร้ายชาวไร่ยาสูบ และ ยสท. หากกรมสรรพสามิตยอมตามแรงกดดันของเอ็นจีโอแล้ว เท่ากับว่าเราไม่สามารถพึ่งพากรมสรรพสามิตได้อีกต่อไป