ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตอบรับผลประชุมเฟด

Baht-ดอลลาร์-1

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตอบรับผลประชุมเฟดมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% คาดปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 23 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (22/9) ที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อคืนนี้ ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ เฟดส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในไม่ช้า จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้ย 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือน โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะประกาศการปรับลดวงเงินในเดือนพฤศจิกายน และเริ่มมีผลในเดือนธันวาคมปีนี้

นอกจากนี้ ผลการประชุมเฟดครั้งล่าสุดยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าถึง 1 ปี เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมในเดือนมิถุนายน ซึ่งกรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 2% สู่ระดับ 5.88 ล้านยูนิตในเดือนสิงหาคม ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.89 ล้านยูนิต โดยยอดขายบ้านมือสองได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามดอลลาร์สหรัฐถูกกดดันโดยมีแรงเทขายเงินสกุลปลอดภัยหลังนักลงทุนทั่วโลกคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญาการขาดสภาพคล่องของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ หลังจากนายฮุย คา หยาน ประธานบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เอเวอร์แกรนด์จะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการช่วยเหลือนักลงทุนในการไถ่ถอนผลิตภัณฑ์ลงทุนของบริษัท

นายฮุยระบุด้วยว่า เอเวอร์แกรนด์จะพยายามสร้างความเชื่อมั่นในการส่งมอบอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับเน้นย้ำถึงความสำคัญขอการกลับมาเร่งสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ถูกระงับไปก่อนหน้านี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,256 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,524,613 ราย

โดยในวันนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงเช้าก่อนที่ในช่วงบ่ายจะมีแรงเทขายทำกำไรเงินดอลลาร์สหรัฐ ก่อนวันหยุดยาวในช่วงสุดสัปดาห์ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.17-33.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/9) ที่ระดับ 1.1700/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวันพุธ (22/9) ที่ระดับ 1.1730/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจในวันนี้ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการในยูโรโซนประจำเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 56.3 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.5 และต่ำกว่าในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 59.0 นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตในยูโรโซนประจำเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 58.7 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 60.3 และต่ำกว่าในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 61.4

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1688-1.1723 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1721/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/9) ที่ระดับ 109.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/9)ที่ระดับ 109.57/59 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ โดยเมื่อวานนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอไอ) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0% ตามความคาดหมายของตลาด

แต่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมุมมองเชิงลบต่อการส่งออก และผลผลิตอุตสาหกรรม เนื่องจากการสั่งปิดโรงงานในภูมิภาคเอเชียส่งผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทานต่อผู้ผลิตบางราย ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.82-109.96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจคงดอกเบี้ยของสหราชอาณาจักรในวันพฤหัสบดี (23/9), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (23/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการและภาคการผลิตของสหรัฐในเดือนกันยายน (23/9), ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น (24/9), ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนีในเดือนกันยายน (24/9), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐประจำเดือนสิงหาคม (24/9)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.6/+0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3/+4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ