ผลกระทบ Evergrande ต่อตลาดตราสารหนี้ไทย

คอลัมน์ สถานีลงทุน
ศิรินารถ อมรธรรม
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

 

ช่วงสัปดาห์ก่อน (13-17 ก.ย.) นอกจากเรื่อง QE tapering แล้ว ก็ต้องเรื่องของ Evergrande ซึ่งอาจผิดนัดชำระครั้งใหญ่ที่นักลงทุนเฝ้าติดตาม โดยจนถึงขณะนี้นักลงทุนน่าจะคลายความกังวลลงระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังคงเป็นที่ต้องติดตามอยู่ว่าจะมี after shock effect แค่ไหน ซึ่งในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นดูเหมือนจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากกว่าตลาดตราสารหนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐรุ่น 10 ปี ปรับตัวลงราว 10 bps ในช่วง 1 สัปดาห์หลังจากที่ตลาดเริ่มมีความกังวลการผิดนัดชำระของ Evergrande ที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ นักลงทุนจึงลดความเสี่ยงโดยหันเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งกดให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงจาก 1.38% มาต่ำสุดที่ 1.28% เมื่อวันที่ 14 ก.ย.

จากนั้นเมื่อตลาดเริ่มคลายความกังวล บอนด์ยีลด์เคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัว โดยปรับขึ้นเล็กน้อย สะท้อนความกังวลเดิมเรื่องของการทำ QE tapering มาอยู่ที่ 1.32% เมื่อวันที่ 22 ก.ย. สำหรับ credit spread ของหุ้นกู้ high yield ซึ่งเป็นส่วนชดเชยต่อความเสี่ยงที่สูงขึ้น ได้ปรับตัวขึ้นราว 10 bps เช่นกันในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย ผลกระทบจนถึงวันที่ 22 ก.ย. มีค่อนข้างจำกัดเช่นกัน โดยในเดือนกันยายน ภายหลังที่ค่าเงินบาทมีทิศทางทรงตัวหรือแข็งค่าน้อยลงจากเดือนสิงหาคม นักลงทุนต่างชาติได้เปลี่ยนเป็นการขายสุทธิเฉลี่ยวันละเกือบ 1 พันล้านบาทในช่วง 2 สัปดาห์แรก จากนั้นในช่วงต้นสัปดาห์ที่สามมีแรงขายเพิ่มมากขึ้นเป็น 3-7 พันล้านบาท ซึ่งข่าว Evergrande เริ่มหนาหูมากขึ้น โดยช่วงปลายสัปดาห์แรงขายเพิ่มเป็นกว่า 12,000 ล้านบาท จากการที่ตลาดมีความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่องของการกู้เงินของรัฐบาลในปีงบประมาณหน้าที่จะสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา

มาในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-24 ก.ย.) แรงขายแผ่วลงเหลือเฉลี่ยวันละ 3 พันล้านบาท จากความกังวลหลักในการทำ QE tapering มูลค่าการลงทุนสุทธิสะสมในตราสารหนี้ตั้งแต่ต้นปีของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นบวกที่ 7.8 หมื่นล้านบาท

ผลจากแรงขายแทบจะตลอดทั้งเดือนที่มีสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น จนถึงวันที่ 22 ก.ย. รุ่นอายุ 2 ปี สูงขึ้นเพียง 7 bps และรุ่น 10 ปี สูงขึ้น 21 bps โดยที่ 9 bps เป็นการปรับขึ้นในวันที่มีการประกาศวงเงินการกู้ของรัฐบาลที่สูงกว่าคาด

ดังนั้น ประเด็นเรื่อง Evergrande จึงไม่ได้มีผลต่อบอนด์ยีลด์ไทย ส่วน credit spread ของหุ้นกู้ BBB ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก นักลงทุนที่อาจมีการเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ของ Evergrande ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่งก็ไม่ได้กังวลมาก เนื่องจากกองทุนมีสัดส่วนการลงทุนที่น้อยมาก จึงไม่ได้มีแรงกดดันต่อกองทุน มูลค่าการซื้อขายของกลุ่มกองทุนรวมและนักลงทุนทุกประเภทก็อยู่ในระดับปกติ

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยไม่ได้กังวลมากนักกับข่าว Evergrande และสภาพคล่องในตลาดยังมีอยู่มากนั่นเอง แต่เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหนี้และมูลหนี้ของ Evergrande ยังไม่ได้มีการเปิดเผยมากนัก นักลงทุนจึงยังวางใจไม่ได้ถึงผลกระทบทางอ้อมที่จะเป็น after shock ว่าจะมีแรงกระเพื่อมไปไกลแค่ไหน

ส่วนล่าสุด หลังจากที่เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับส่งสัญญาณการทำ QE tapering ภายในปลายปีนี้ ก็ไม่ได้ทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐกระตุกขึ้นแรงแต่อย่างใด แต่กลับปรับตัวลดลงเล็กน้อย ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น

สะท้อนว่าตลาดได้เรียนรู้ผลกระทบของการทำ tapering จากครั้งที่แล้ว และปรับตัวไปล่วงหน้าแล้ว (price in) ทำให้คาดว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐและไทยไม่น่าจะผันผวนมากเมื่อเฟดเริ่มทำ QE tapering จริง โดยน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้นต่ออีกเล็กน้อยถ้าเศรษฐกิจยังคงมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง