ขายออนไลน์ยังขยายตัว แม้ลูกค้าจะซื้อยากขึ้น

คอลัมน์สมาร์ทเอสเอ็มอี

ชัยยศ ตันพิสุทธิ์
ธนาคารกสิกรไทย

 

ในช่วง 2 ปีมานี้การซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยขยายตัวขึ้นมากในทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น social commerce, e-Market place และ modern trade online โดยคาดว่ามูลค่าตลาด B2C e-Commerce เฉพาะสินค้าปี 2564 น่าจะขยายตัว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท ได้อานิสงส์จากการระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคทั้งในแง่ของจำนวนผู้ซื้อและความหลากหลายของสินค้า

พร้อมกับการปรับตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้าออนไลน์ หรือ last-mile delivery รวมถึงช่องทางการชำระเงินที่มีความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างเช่น อาหารและเครื่องดื่มเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงโควิด และมีสัดส่วนมูลค่ากว่า 33% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม 23% ที่เหลืออีกกว่า 44% เป็นกลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือ nonfood เช่น สินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของตกแต่ง รวมถึงของใช้ส่วนตัว เช่น แชมพู ยาสีฟัน สบู่

ถึงแม้การซื้อขายออนไลน์จะยังมีแนวโน้มขยายตัว แต่ผู้ประกอบการน่าจะเผชิญกับความท้าทายในการทำธุรกิจ ทำให้ต้องวางแผนและปรับตัวโดยมีประเด็นที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา ดังนี้

การแข่งขันรุนแรง คู่แข่งเยอะ สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากมีความกังวลเรื่องรายได้ในอนาคตที่ไม่แน่นอน จึงต้องมีการวางแผนแย่งชิงกำลังซื้อของผู้บริโภค

การเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่อาจเป็นการปรับช่องทางการซื้อขายสินค้าจากเดิมที่ซื้อผ่านช่องทางหน้าร้านมาเป็นการซื้อขายออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารที่หันมาทำ delivery ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้บริโภคบางส่วนก็อาจจะกลับไปใช้จ่ายผ่านช่องทางเดิม ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการวางแผนและปรับตัว เช่น การทำ omnichannel หรือการเชื่อมแพลตฟอร์มออนไลน์-ออฟไลน์เข้าด้วยกัน รวมถึงการเก็บข้อมูลเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลหรือ big data มาใช้ในการวางแผนธุรกิจ

สินค้าส่วนใหญ่มีการซื้อขายบนออนไลน์ไม่เกิน 35% ของมูลค่าตลาดรวมของสินค้าประเภทเดียวกัน จึงมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อีกมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ส่วนตัว

เทคโนโลยีใหม่ ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในอนาคต

ความท้าทายของการแข่งขันบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ได้แก่

1.e-Market place ที่แม้ว่ารายได้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็ยังประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องราว 30-40% ต่อปี (ปี 2561-2564)

2.กลุ่ม modern trade ออนไลน์ ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เหมือนจะได้เปรียบมากขึ้น เพราะผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นและยังมีโอกาสเติบโต แต่ก็ต้องเผชิญโจทย์การแข่งขันกับผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ที่หันมาขายผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน

3.social commerce ที่ขึ้นชื่อว่าเข้าไปขายง่าย แต่ขายให้รอดยาก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการรายใดจะสามารถปรับตัวและสร้างความแตกต่างได้มากกว่ากัน

ผมคิดว่าวิกฤตโควิดในครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการเห็นแล้วว่า ธุรกิจที่ได้เปรียบคือธุรกิจที่พร้อมปรับตัว ตอบสนองผู้บริโภคได้ทัน ที่สำคัญต้องหมั่นเช็กอัพและคอยดูแลสุขภาพการเงินของตัวเองอยู่เสมอ เพราะในอนาคตเรายังไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคอะไรบ้าง อย่าลืมนะครับว่าในชีวิตคนเราจบปัญหานี้ก็มีปัญหาใหม่มาลับสมองให้เราหาทางแก้ไข พิสูจน์กำลังใจ และเราจะผ่านทุกวิกฤตไปได้ด้วยกัน