สั่ง เอเชียฯ หยุดรับประกัน จับตาเทรนด์ “ลดคน-ตัดรายจ่าย” เซ่นโควิด

Asia ประกันภัย

กระแสเรื่องบริษัทประกันบางแห่งอาจจะปิดตัว ประกอบกับก่อนหน้านี้มีภาพของบริษัทประกันหลายแห่งต้องเผชิญกับยอดเคลมสินไหมประกันภัยโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นมาก จนกระบวนการเคลมดำเนินการไม่ทัน

และเห็นภาพผู้เอาประกันออกมารวมตัวเรียกร้องให้เร่งจ่ายเคลมในหลายบริษัท กำลังสร้างผลกระทบเชิงลบต่อวงการ เพราะทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่น

คปภ.สั่งเอเชียฯหยุดรับประกัน

ล่าสุด “ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ คปภ.ได้มีมติเห็นชอบให้นายทะเบียน สั่งบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันภัยชั่วคราว-ห้ามรับงานใหม่ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.เป็นต้นไป

เนื่องจากพบพฤติการณ์ว่า บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีประมาณการหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย หรือประชาชนได้

ทั้งยังมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของบริษัท

“ตลอดจนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัยมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว คณะกรรมการ คปภ.จึงสั่งให้ เอเชียประกันภัยฯ หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สิน และให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน” นายสุทธิพลกล่าว

ทั้งนี้ คปภ.ได้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้บริษัทดำเนินการ ดังนี้ 1.เพิ่มทุนหรือแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง ให้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการทุก 7 วัน

2.จัดทำรายงานสรุปรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เช่น หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัย ชื่อผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจัดส่งรายงานให้สำนักงาน คปภ. ทุกวันทำการ นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และให้บันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัย ให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย

3.บันทึกรายการทางทะเบียนแสดงรายการค่าสินไหมทดแทนให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และ 4.เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ครบถ้วน ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

เคลมโควิดใกล้ทะลุหมื่นล้าน

ทั้งนี้ จากข้อมูล คปภ.พบว่า การขายประกันโควิดตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2564 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท และเคลมสะสมถึง 9,428.63 ล้านบาท โดยปัจจุบันจำนวนผู้ร้องเรียนเคลมก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

งัดมาตรการอุ้มสภาพคล่อง

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันปัญหาลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก คปภ.ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 ในช่วงปี 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป ประกอบด้วย 7 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.ยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากการรับประกันภัยโควิด

2.ให้สามารถนับเงินกู้ยืมด้อยสิทธิ์ตามลักษณะที่กำหนดมาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้ 3.ผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำ 4.ยกเว้นการนำค่าเผื่อความผันผวน (provision of adverse deviation : PAD) มาคำนวณเงินกองทุน 5.สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน มาใช้เป็นสินทรัพย์หนุนหลัง 6.สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน มาใช้ในการคำนวณเงินสำรอง

และ 7.อนุญาตให้บริษัทมีสัดส่วนของเงินสดและเงินฝากธนาคาร ที่บริษัทใช้สำหรับการบริหารสภาพคล่องได้เกิน 5%

โดยกำหนดเงื่อนไขที่บริษัทประกันจะสามารถยื่นคำขอใช้มาตรการผ่อนผันได้ ต้องมี 2 ส่วน คือ 1.ต้องมีค่าสินไหมเคลมประกันโควิดมากกว่า 500 ล้านบาท ก่อนการยื่นขอผ่อนผัน และ 2.มีการประมาณการว่า CAR ของบริษัท ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. 2564 ถึง 30 มิ.ย. 2565 อาจต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ ต้องเคลมไม่น้อยกว่า 75% ของเรื่องร้องเรียนประกันโควิดที่มีการยื่นต่อ คปภ. และมีเงินกองทุนหรือสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการจ่ายเคลมโควิด รวมถึงหลังจากยื่นคำขอแล้ว จะต้องจัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขฐานะการเงินให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2565 และรายงานความคืบหน้าทุก 15 วัน

ยื้อเต็มที่กันบริษัทประกันล้ม

“ดร.สุทธิพล” กล่าวว่า มาตรการผ่อนผันดังกล่าวเป็นกลไกชั่วคราว ที่มุ่งช่วยเหลือบริษัทประกันที่ประสบปัญหาสภาพคล่องรายกรณี โดยจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันที่รับประกันภัยโควิดให้มีเงินเพียงพอต่อการจ่ายเคลม

สัญญาณไม่ดี “ยุบบูท-ลดคน”

อย่างไรก็ดี นอกจากปัญหาที่เกิดจากการขายประกันโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” แล้ว แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจประกันภัยรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ตอนนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยต่างชาติรายหนึ่งได้ดำเนินการยุบช่องทางขายผ่านบูทตามห้างสรรพสินค้า และประกาศเลิกจ้างทีมพนักงานส่วนนี้ทั้งหมด รวมไปถึงมีการเลิกจ้างพนักงาน โดยจ่ายชดเชยตามกฎหมายด้วย อย่างไรก็ดี บริษัทประกันรายนี้ไม่ได้ขายประกันโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” แต่อย่างใด

“ค่ายประกันต่างชาติมีการลดคนฝ่ายซัพพอร์ต และยังมีแผนจะลดคนแผนกเทเลเซลส์เป็นลอตถัดไป ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ที่จะถึงนี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันทีมเทเลเซลส์ถือเป็นช่องทางหลักของบริษัทประกันรายนี้ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของเบี้ยรับรวม ส่วนอีก 20% จะมาจากช่องทางออนไลน์และเคาน์เตอร์ตามห้างสรรพสินค้า โดยช่องทางเคาน์เตอร์ตามห้างสรรพสินค้าก็เห็นยอดขายลดลงมาต่อเนื่อง” แหล่งข่าวกล่าว


ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงการปรับตัวให้อยู่รอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน หรือสถานการณ์จะรุนแรงกว่านั้น เหมือนกรณีเอเชียประกันฯ คงต้องติดตามกันต่อไป