ประกันโควิดดิ้นแก้สภาพคล่อง ชง “คปภ.” ยกเลิกเคลมผู้ป่วยฮอสพิเทล

นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ดึงบทเรียน “เอเชียประกันภัย” ชง คปภ. 2 ข้อ “ยกเลิกจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในฮอสพิเทล-ขอใช้ข้อมูล สธ.” หวังรวดเร็วจ่ายเคลม-ป้องกันฉ้อฉล ชี้ผลกระทบเกิดจากปัญหาระบบสาธารณสุข ทำยอดเคลมประกันพุ่ง ธุรกิจรับไม่ไหว ป่วนระบบรับจ่ายเคลม-สภาพคล่องชะงัก-เงินกองทุนขาด จับตาแก้ไขฐานะการเงิน “เอเชียประกันฯ” ภายใน 1 เดือน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณี บมจ.เอเชียประกันภัย ที่มีปัญหาสภาพคล่อง จนถูกสั่งให้หยุดรับประกันชั่วคราว เกิดจากปัญหาเคลมประกันภัยโควิดที่เข้ามามากกว่าคาดในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤตเตียงผู้ป่วย ยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงถึงวันละ 20,000 ราย ต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน

“เป็นปัญหาเชิงระบบของสาธารณสุขที่ไม่มีเตียงรองรับการรักษาตัวได้เพียงพอ จนส่งผลให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายหลังจากผู้ป่วยที่รักษาตัวหายในลอตแรกแล้ว ต่างทยอยเข้ามาเคลมประกันภัยโควิดจนกระทบเป็นคลื่นลูกที่สอง ส่งผลให้ค่ารักษาเหมือนน้ำเหนือที่ไหลลงมาสู่ภาคกลาง และกำลังท่วมธุรกิจประกันภัย” นายอานนท์กล่าว

โดยปริมาณผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมาก ธุรกิจประกันภัยจะเกิดปัญหาใหญ่ ๆ 3 ด้าน คือ 1.การบริการด้านรับเคลมประกันภัยและการพิจารณาจ่ายเงิน ซึ่งมีปริมาณทรานแซกชั่นมากกว่าปกติเป็นหลาย 10 เท่า ทำให้เจ้าหน้าที่รับเคลมปกติรองรับไม่พอ ยกตัวอย่าง บมจ.กรุงเทพประกันภัย เดิมมีเจ้าหน้าที่รับเคลมประกันสุขภาพกว่า 10 คน ช่วงลอตแรกได้โยกเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นเพิ่มเข้ามาเป็น 20 คน แต่ยังเอาไม่อยู่ ต้องเพิ่มคนสูงสุดกว่า 200-300 คน

นอกจากนี้ อุปสรรคการทำงานที่บ้าน (WFH) ยังทำให้แต่ละบริษัทต้องเพิ่มระบบไอทีรองรับ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ทำได้ แต่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กแม้พยายามทำแต่มีข้อจำกัด

2.กฎหมายบีบบริษัทประกันภัยต้องหาเงินจ่ายเคลมโควิดภายใน 15 วัน ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่อง ประกอบกับสินทรัพย์ในระบบเก็บอยู่ในรูปกระแสเงินสดสูงสุดแค่ 10-20% ที่เหลือเป็นเงินลงทุนในหุ้น, พันธบัตร, หุ้นกู้ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อต้องจ่ายเคลมรวดเร็วย่อมกระทบปัญหาด้านสภาพคล่อง จึงต้องดำเนินการแปลงสินทรัพย์มาเป็นกระแสเงินสดเพื่อจ่ายเคลม

3.ผลจากการจ่ายเงินค่าเคลมประกันโควิดออกไปค่อนข้างมากต่อเนื่อง กระทบต่ออัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ที่จะขาดหรือต่ำลงมาก ซึ่งล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกเกณฑ์ผ่อนผันให้แล้ว เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป

“เรารู้ว่าเงินกองทุนต่ำเกณฑ์กำกับของเอเชียประกันภัยไม่ได้เจตนา แต่เนื่องจากปัญหาเคลมโควิดเข้ามามากในระยะเวลาแค่ 2 เดือน จึงต้องให้เวลาเอเชียประกันภัยแก้ไขปัญหาฐานะทางการเงินก่อน เหมือนธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ธุรกิจการเงินอื่น ๆ ที่เคยเจอวิกฤต ฉะนั้นคงต้องรอหลังประกาศบังคับใช้ก่อนว่าเอเชียประกันภัยจะวางแผนดำเนินการอย่างไร” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าว

นายอานนท์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันปริมาณ booking จำนวนยอดเคลมประกันภัยโควิดลอตแรกของเอเชียประกันภัยอาจจะยังแก้ปัญหาได้ไม่ทัน พอมากระทบลอตสองจึงถูกผลกระทบก่อนรายอื่น ๆ

ปัจจุบันยอดเคลมประกันภัยโควิดในระบบพุ่งเกินกว่าเบี้ยรับสูงถึง 3-4 เท่า จึงประเมินว่าสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ยอดเคลมโควิดน่าจะทะลุ 12,000-13,000 ล้านบาท จากเบี้ยรับรวมประกันภัยโควิดปีนี้อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

โดยคาดการณ์อัตราความเสียหาย (loss ratio) หรือยอดเคลมประกันโควิดที่จะต้องจ่ายจากเบี้ยรับปีนี้สูงกว่า 400-500% หรือคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่ารวม 25,000-30,000 ล้านบาท

“เราต้องรอดู 1 เดือนหลังจาก คปภ.มีคำสั่งให้บริษัทเอเชียประกันภัยจัดทำแผนเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันภายใน 30 วันนับจากวันที่ 23 ก.ย. 2564 ส่วนที่มีคำสั่งให้หยุดรับงานประกันภัยใหม่ชั่วคราว ถือเป็นกฎระเบียบการกำกับดูแลหน้าด่าน แต่ถ้าหลัง 1 เดือนไปแล้วหากแผนไม่ผ่าน คปภ.คงเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาต หลังจากนั้นเข้าสู่แนวทางและขั้นตอนปฏิบัติสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีหลายบริษัทประกันที่เข้าข่ายลักษณะนี้ แต่ยังไม่หนักเท่านี้ สามารถแก้ปัญหาไปได้ แต่ผลกระทบย้ำว่าจะไม่เชื่อมโยงหรือเอฟเฟ็กต์เป็นโดมิโน่ เพราะผลกระทบเป็นรายกรณี” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สมาคมกำลังทำหนังสือเตรียมเสนอ คปภ. 2 วาระสำคัญ คือ 1.ให้ยกเลิกประกาศการจ่ายความคุ้มครองกรณีค่ารักษาผู้ป่วยใน (IPD) กลุ่มสีเขียวที่กักตัวในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากพอ ๆ กับค่าใช้จ่ายกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นภาระมากเกินไป ประกอบกับเดิมไม่เข้าเกณฑ์ที่บริษัทประกันภัยจะคุ้มครอง แต่ได้มีการผ่อนผันอนุโลมช่วยเหลือ แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้น และภาคธุรกิจไม่ได้คิดเบี้ยประกันภัยเผื่อสำหรับความคุ้มครองส่วนนี้ จึงขอให้มีคำสั่งยกเลิกประกาศ เพราะขณะนี้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนมีเตียงว่างรองรับมากขึ้นแล้วด้วย

และ 2.กำลังขอเช็กข้อมูลผู้ป่วยโควิดกับทางกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความรวดเร็วในการจ่ายเคลมและป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย