จับตาประชุม กนง.ส่งสัญญาณ ศก.แย่ ค่าเงินอ่อน 33.60 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาท

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินบาท 33.20-33.60 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดการประชุม กนง.ส่งสัญญาณมุมมองจีดีพี-ตัวเลขเศรษฐกิจภาคการผลิต-บริการสหรัฐฯ-จีน คาดยังมีแรงเทขายบอนด์ตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ

วันที่ 26 กันยายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 27 กันยายน-1 ตุลาคม 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.20-33.60 บาทต่อดอลลาร์

ปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2564 โดยธนาคารมองว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี

อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลการประชุมจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ตลาดยังติดตามประเด็นการส่งสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อมุมมองเศรษฐกิจ เช่น หาก ธปท.มีมุมมองระมัดระวังมากขึ้น และปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงอยู่ที่ราว 0.5% อาจมีผลต่อค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อย แต่หากมีมุมมองเศรษฐกิจดีขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังคงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการของประเทศจีน โดยตลาดยังคงมีมุมมองฟื้นตัว ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินหยวน (CNY) กลับมาทรงตัวได้ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ หากตัวเลขออกมาแย่กว่าคาด จะทำให้เงินดอลลาร์ทรงตัวหรือแข็งค่าได้

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟล์ว) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 3,170 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากกระแสข่าวการปรับโครงสร้างของธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิ 10,330 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าเร็วพอสมควร โดยมีแรงเทขายทั้งบอนด์ตัวสั้นและยาว

“ในช่วงสัปดาห์หน้าในแง่ตลาดหุ้นเราคงไม่เห็นการไหลเข้ามาเพิ่ม เพราะหลังจากมีโฟล์วการซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารจากข่าวไทยพาณิชย์ แต่บอนด์อาจเห็นการขายเพิ่มตามผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ บอนด์ยีลด์ที่ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.10% จาก 1.30% มาอยู่ที่ 1.44% อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงยังคงต้องจับตาเอเวอร์แกรนด์ของจีน โดยคิดว่า 33.50 บาทน่าจะยังรับได้อยู่”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.20-33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยคาดการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% โดยเสียงไม่เอกฉันท์ และติดตามการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไป หากลดดอกเบี้ยจะถือว่าเซอร์ไพรส์ตลาดจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้

ส่วนปัจจัยในต่างประเทศ จะเป็นเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาบริษัทอสังหาฯในจีนขาดสภาพคล่อง และรายงานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล, ดัชนี ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และติดตามกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย

“เรายังมองว่ากนง.จะยังคงดอกเบี้ย แต่เราจะเห็นคณะกรรมการเสียงแตก และประมาณการเศรษฐกิจยังคงให้ขยายตัวอยู่ที่ 0.7% ปีนี้ไม่น่ามีปรับลดแล้ว”