ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้ระบบแบงก์ทำงานได้ดี-สินเชื่อโตกว่าภูมิภาค

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯ ธปท. เผยสินเชื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอีพลิกขยายตัว 1% ในเดือน ก.ค. ชี้ผลจากมาตรการช่วยพยุงธุรกิจ ยันระบบแบงก์ทำงานได้ดี สินเชื่อทั้งระบบโตดีกว่าภูมิภาค แม้เศรษฐกิจส่อขยายตัวไม่ถึง 1% ย้ำแบงก์ชาติพร้อมปรับมาตรการรับมือผลกระทบโควิด ยอมรับช่วยลูกหนี้ไม่ได้ทุกคน เน้นช่วยคนถูกกระทบหนักแต่มีโอกาสพลิกฟื้น

วันที่ 27 กันยายน 2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด ในงานประชุมสามัญประจำปี 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ในเดือน ก.ค.2564 เริ่มเห็นสินเชื่อเอสเอ็มอีกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 1% จากเดิมที่ติดลบมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ซึ่งหากไม่มีผลของมาตรการของทางการ เข้ามาเกี่ยวข้อง สินเชื่อเอสเอ็มอีจะยังคงติดลบ 1%

โดยที่ผ่านมา ถือว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำงานได้ดีระดับหนึ่ง ดูได้จาก 3 เหตุผล คือ 1) สินเชื่อยังโตใกล้เคียงกับก่อนโควิด สะท้อนจากสินเชื่อใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่โต 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 4% เช่นกัน ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อที่ 4% นี้ คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อใหม่กว่า 5 แสนล้านบาท

2) สินเชื่อยังโตได้ดีแม้ในภาวะวิกฤต หากเทียบกับบริบทของเศรษฐกิจในอดีต จะเห็นว่า ปกติสินเชื่อจะขยายตัวสูงในช่วงที่ GDP หรือเศรษฐกิจขยายตัวดี แต่สำหรับปีนี้ที่เศรษฐกิจน่าจะโตไม่ถึง 1% ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังสามารถให้สินเชื่อใหม่ได้ที่ 4% จึงเป็นสัญญาณว่าระบบยังทำงานได้ดี

และ 3) สินเชื่อของไทยยังโตได้มากกว่าประเทศในภูมิภาค แม้ไทยถูกกระทบจากโควิดหนักที่สุดและฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น เห็นได้จาก สินเชื่อของไทยที่โต 4% ขณะที่อินโดนีเซียหดตัว 1.7% ฟิลิปปินส์หดตัว 0.9% และสิงคโปร์ขยายตัว 1.4% โดยมีเพียงมาเลเซีย ที่มีอัตราขยายตัวใกล้เคียงกับไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่หุบร่ม ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง

นอกจากเรื่องสินเชื่อใหม่ ยังมีเรื่องการดูแลภาระหนี้เดิม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้มาตรการต่าง ๆ ของ ธปท. มาต่อเนื่อง โดยลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการ เพิ่มขึ้นไปสูงสุด ณ เดือน ก.ค. 2563 กว่า 6 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้กว่า 4 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับสินเชื่อทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 14 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่น้อย และในปัจจุบันจำนวนลูกหนี้ทั้งหมดภายใต้มาตรการมีอยู่เกือบ 3 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) พบว่า ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 4% โดยมีเม็ดเงินลงไปช่วยเหลือแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ในช่วงที่เกิดโควิดขึ้นมา

ชี้ทรัพยากรมีจำกัด-ช่วยลูกหนี้ไม่ได้ทุกคน

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆที่ ธปท.ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจและรายย่อยทั้งหมดที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่า ทำเพียงพอแล้ว โดย ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และ พร้อมจะออกมาตรการเพิ่มเติม หรือปรับมาตรการให้เหมาะสมตามความจำเป็น อย่างเช่นการปรับมาตรการซอฟต์โลนเป็นสินเชื่อฟื้นฟู และ การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นระยะยาวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือจากกลไกของระบบธนาคารพาณิชย์ กลไกของ SFIs หรือกลไกเสริมจาก ธปท. ก็คงยังมีคำถามว่า มีเพียงพอช่วยเหลือทุกคนหรือไม่ หรือช่วยเท่าที่ทุกคนต้องการแล้วหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่ได้ทั้งหมด เพราะวิกฤตที่กว้าง และรุนแรงขนาดนี้ ต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่มีโอกาสพลิกฟื้นกลับมาได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เพราะในทางกลับกัน หากจัดสรรทรัพยากรไปใช้อย่างไม่ถูกจุด ผู้เดือดร้อนหนักอาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ และอาจส่งผลให้กลไกของระบบธนาคารพาณิชย์ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้เห็นการหุบร่ม แทนที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่ม และจะเห็นแบงก์เรียกหนี้คืน รวมถึงการขายสินทรัพย์ออกไปนอกแบงก์ในราคาต่ำเกินควร ดังเช่นที่เคยเห็นตอนวิกฤตปี 2540

ดังนั้น การช่วยเหลือลูกหนี้ จำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการบรรเทาผลกระทบของลูกหนี้ และการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินให้ดำเนินการต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นผลกระทบจากกว้าง ยาว และหนักกว่าที่ประสบอยู่ทุกวันนี้ ทั้งนี้ ยอมรับว่า คงไม่สามารถช่วยให้ลูกหนี้รอดได้ทุกคน แต่บทบาทของ ธปท. จะพยายามช่วยให้ลูกหนี้รอดได้มากที่สุด

“แม้การช่วยเหลือลูกหนี้ จะไม่ได้ทำให้ลูกหนี้รอดทุกคน แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือ การทำให้ลูกหนี้รอดมากที่สุด ดังนั้นบทบาทของ ธปท. จึงเป็นการออกแบบมาตรการ ปรับเกณฑ์ต่าง ๆที่เอื้อ หรือสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถจัดสรรทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น และ ยังมีฐานะแข็งแกร่ง เพราะด้วยหน้าที่หลักของ ธปท.คือการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงให้ธนาคารสามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แต่เราไม่ใช่เจ้าของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแตกต่างจากกรณี SFIs ที่มีรัฐเป็นเจ้าของ” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ภาคบริการกระทบหนักสุด

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด เป็นวิกฤตที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรง ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลข GDP ติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ปี 2541 แต่ตัวเลข GDP ก็อาจยังไม่สะท้อนผลกระทบในวงกว้างที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเผชิญจากโควิด ซึ่งในรอบนี้ นับได้ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

โดยภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างหรือจุดที่สะท้อนความรุนแรงของปัญหาที่เจอได้ดี ในช่วงก่อนโควิด ได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทยปีละ 40 ล้านคน แต่ล่าสุด ปีนี้จนถึง ก.ค. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเพียง 6 หมื่นคน พูดได้ว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมด และจากผลสำรวจของ ธปท. ในเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการโรงแรมถึง 65% จะมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน ทำให้หลายรายต้องปิดกิจการชั่วคราว และบางส่วนที่สู้ไม่ไหว ต้องประกาศขายกิจการ

และไม่ใช่เพียงภาคบริการที่ถูกกระทบหนัก ภาคการผลิตก็ได้รับผลหนักเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงระลอกแรกที่มีการประกาศ lockdown ที่การผลิตในไตรมาส 2 ปี 2563 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และ การระบาดระลอกล่าสุด ก็กลับมากระทบการผลิตอีกครั้ง โดยเฉพาะการผลิตเพื่อขายในประเทศ มิหนำซ้ำการผลิตเพื่อส่งออกก็ถูกกระทบจากปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลน semiconductor หรือตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

จากการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน เช่น การทำ Bubble and Seal ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 3.5% เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.5% ในขณะที่ต้นทุนนี้ ยังส่งผ่านไปยังผู้บริโภคไม่มาก สะท้อนจากราคาฝั่งขายที่ปีนี้เฉลี่ยอยู่เพียง 0.7%

ครัวเรือนกระทบหนัก ว่างงานพุ่ง

นอกจากภาคธุรกิจที่ถูกกระทบหนักแล้ว ภาคครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ส่วนแรกที่เห็นชัดเจน คือ การจ้างงาน ที่ถูกกระทบอย่างรุนแรง โดยจากข้อมูลการจ้างงานในไตรมาส 2 ปีนี้ จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน (ผู้เสมือนว่างงาน คือ มีงานทำแต่ไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) รวมกันอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน เทียบกับแรงงานทั้งหมดที่ 39 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย

สอง ผู้ว่างงานระยะยาว คือ เกิน 1 ปี อยู่ที่เกือบ 2 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว นอกจากนี้ เรายังเห็นแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมจากการถูกเลิกจ้าง โดยล่าสุดในเดือน ส.ค.มีจำนวน 2 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ที่ 5 แสนคน