ดอลลาร์แข็งค่าตามบอนด์ยีลด์ จับตาถ้อยแถลง พาวเวลล์และเยลเลน คืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าตามบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้น จับตาถ้อยแถลง พาวเวลล์ และเยลเลนคืนนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องจับตา คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 กันยายนนี้ ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.73-75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่าสภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 28 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.63/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/9) ที่ระดับ 33.54/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.482% หลังพุ่งแตะระดับ 1.51% ก่อนหน้านี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.0%

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนสิงหาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสในวันนี้ โดยทั้งสองจะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และความสำคัญของการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวานนี้ (27/9) คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย นวด/สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องจับตา คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 กันยายนนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.62-33.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.73-75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (28/9) ที่ระดับ 1.1692/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/9) ที่ระดับ 1.1699/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอยู่ในช่วงอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยยูโรยังคงถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ผลกระทบจากปัญหาด้านการเงินของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ของจีน และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนยังเข้าถือดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับทางด้านการเมือง พรรคโซเชียล เดโมแครต ซึ่งเป็นฝ่ายกลาง-ซ้ายของเยอรมนีจะเริ่มพยายามจัดตั้งรัฐบาลหลังจากท่พวกเขาชนะการเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกอย่างเฉียดฉิวนับตั้งแต่ปี 2548 โดยพรรคโซเชียลเดโมแครตระบุว่า จะพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคกรีนส์และพรรคฟรี เดโมแครตภายในวันคริสต์มาสนี้ เพื่อรับช่วงการบริหารประเทศต่อจากนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1670-1703 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1675/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/9) ที่ระดับ 111.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/9) ที่ระดับ 110.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยในท้ายตลาดวันจันทร์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงมุ่งเน้นการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 โดยพิจารณาจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

โดยนายคุโรดะกล่าวว่าการชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานมีแนวโน้มที่จะเป็นเพียงสภาวะชั่วคราว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะชัดเจนขึ้นเมื่อผลกระทบของการระบาดลดน้อยลง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.91-111.42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2564, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI), ภาคการผลิตเดือนสิงหาคมจากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนกันยายน จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.55/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.45/+4.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ