ธปท.ชี้พอร์ตโรงแรม 3 แสนล้านอ่วมโควิด ธุรกิจเข้า “พักทรัพย์” 106 ราย

พักหนี้-กู้เงิน

ธปท.อัพเดตตัวเลขธุรกิจเข้า “พักทรัพย์ พักหนี้” แล้ว 106 ราย มูลค่าทรัพย์รับโอน 1.5 หมื่นล้านบาท เผยพอร์ตโรงแรมเข้ารับความช่วยเหลือเฉียด 3 แสนล้านบาท หรือ 65% ของสินเชื่อโรงแรมทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้วกว่า 3 หมื่นราย วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ยันเดินหน้าออกมาตรการอุ้มลูกหนี้ ทั้งระยะสั้น-ระยะยาวจากวิกฤตโควิด-19

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความคืบหน้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ล่าสุดมีมูลค่าสินทรัพย์รับโอน 1.5 หมื่นล้านบาท และผู้ได้รับความช่วยเหลือ 106 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโรงแรม โรงงานแปรรูป สปา ร้านอาหาร โรงพยาบาลที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายราย ทั้งนี้ มาตรการนี้เป็นมาตรการใหม่ ทำให้การตัดสินใจระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ จากสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและที่พักแรมของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีมูลค่าทั้งสิ้นราว 4.39 แสนล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวราว 2.83 แสนล้านบาท หรือประมาณ 65% จะเป็นลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ซึ่งมากกว่า 61% อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ขยายเทอม และประมาณ 34% เป็นการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น พักชำระหนี้ ปรับอัตราดอกเบี้ย และอีกประมาณ 5% อยู่ภายใต้มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ นอกจากนี้ ธนาคารได้ให้สินเชื่อใหม่เสริมสภาพคล่องไปกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

ขณะที่มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ล่าสุดปล่อยสินเชื่อแล้ว 1.06 แสนล้านบาท จำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.45 หมื่นราย วงเงินเฉลี่ย 3.07 ล้านบาทต่อราย โดยประมาณ 44.3% กระจายในเอสเอ็มอีที่มีวงเงิน 5-50 ล้านบาท และ 67.2% อยู่ในธุรกิจพาณิชย์และบริการ ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ที่มีความเสี่ยงสูงสุด และราว 68.4% เป็นลูกหนี้ที่อยู่ต่างจังหวัด

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนออกมาค่อนข้างมากและเร็ว นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 ตั้งแต่มาตรการช่วยเหลือวงกว้างและแบบเฉพาะเจาะจง (targeted) และล่าสุดการแก้หนี้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา และภายในเดือน ต.ค.นี้ จะมีการออกหลักเกณฑ์แนวทางการรวมหนี้ (debt consolidation) ระหว่างสินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันข้ามสถาบันการเงิน จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดภายในธนาคารเดียวกัน เพื่อช่วยลดภาระอัตราดอกเบี้ยสูง และสร้างตลาดให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการช่วยเหลือภายใต้มาตรการต่าง ๆ จะเห็นว่า ลูกหนี้เข้ารับความช่วยเหลือสูงสุดในเดือน ก.ค. 2563 ช่วงโควิด-19 ระบาดรอบแรก มียอดลูกหนี้เข้าโครงการ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 12.5 ล้านบัญชี และลดลงมาต่อเนื่องตามมาตรการควบคุมการระบาด และล่าสุด ณ ก.ค. 2564 มีลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลืออยู่ที่ 5.12 ล้านบัญชี มูลหนี้รวมอยู่ที่ 3.55 ล้านล้านบาท

“การออกมาตรการว่ายากแล้ว การผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นตัวเลขยิ่งยากว่า ซึ่งเราพยายามทำให้ครบทั้งมาตรการสั้นและยาว และมาตรการล่าสุด 3 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อต่อท่อให้ทันกับมาตรการพักหนี้ 2 เดือนที่จะครบใน ต.ค.นี้ ซึ่งหลังจากนี้ เรากำลังติดตาม product program ที่แบงก์จะออกมาน่าจะชัดขึ้น” นางสาวสุวรรณีกล่าว