เงินบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย หลัง กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย

เงินบาท

ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย หลังจาก กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 โต 3.9% ก่อนเงินบาทกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 33.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 29 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/9) ที่ระดับ 33.73/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรับอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.54% เมื่อคืนนี้ โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อคืนนี้ว่า สหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับเกือบ 4% ภายในสิ้นปีนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ดัชนีควมเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 109.3 ในเดือนกันยายน ลดลงจากระดับ 115.2 ในเดือนสิงหาคม และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 114.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้นักลงทุนจับตาการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว และการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในวันที่ 21 กันยายน เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐให้มีงบประมาณใช้จ่ายไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังมีมติให้ยกเลิกเพดานหนี้ของสหรัฐ ไปจนถึงสิ้นปี 2565

อย่างไรก็ดี วุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกันได้ขัดขวางร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐต้องปิดการดำเนินงานในสิ้นเดือนนี้ เนื่องจากขาดงบประมาณ และรัฐบาลสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และปี 2565 น่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 แต่มองว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง

ซึ่ง กนง.คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2564 ที่ 0.7% แต่ปรับคาดการณ์ปี 2565 เป็น 3.9%  ทำให้ในช่วงบ่ายค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 อยู่ที่ระดับ 87.71 หดตัว -4.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.80-33.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (29/9) ที่ระดับ 1.1683/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/9) ที่ระดับ 1.1681/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของยูโรโซน เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน ออกมาที่ระดับ 14.1 มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 12.5 และมากกว่าในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 13.8

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.165-11.1690 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1664/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/9) ที่ระดับ 111.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/9) ที่ระดับ 111.30-32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์

โดยในวันนี้ นายฟูมิโอะ คิชิดะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งจะปูทางให้นายคิชิตะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรค LDP ครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาในญี่ปุ่น จึงทำให้นายคิชิดะจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีที่สภาเริ่มการประชุมสมัยวิสามัญในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.24-111.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2564, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI), ภาคการผลิตเดือนสิงหาคมจากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนกันยายนจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.55/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.45/+4.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ