แบงก์ชาติ ส่งสัญญาณเศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุด ปีหน้าโต 3.9%

ธปท

ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 พ้นจุดต่ำสุด และทยอยฟื้นตัวคาดปีนี้จีดีพีโตได้ 0.7% และปี 65 ขยายตัวได้ 3.9% สูงกว่าประมาณการเดือนส.ค.ที่มองไว้ 3.7% เผยปัจจัยบวกการฉีดวัคซีน-การคลายล็อกดาวน์เร็วกว่าคาด เชื่อการบริโภคเอกชนเร่งตัวดีขึ้น ย้ำ เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง จับตาการควบคุมโรค-การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์-มาตรการเร่งความเชื่อมั่นของภาครัฐ

วันที่ 29 กันยายน 2564 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในการประชุมเดือนก.ย.ครั้งนี้ และเดือนสิงหาคมมีความใกล้เคียงกัน โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ระดับ 0.7% และทยอยปรับตัวขึ้นดีขึ้น ภายหลังจากไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยในปี 65 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.9% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากรอบการประชุมเมื่อเดือนส.ค.ที่มองการขยายตัวอยู่ที่ 3.7% 

โดยปัจจัยการขยายตัวมีทั้งบวกและลบ โดยมีสังเกตว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 มีความรุนแรงกว่าคาด แต่การฉีดวัคซีนและมาตรการควบคุมโรคระบาดคลายล็อกเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งจะเห็นการบริโภคภาคเอกชนกลับมาดีกว่าคาดหลังจากมีการอั้นมานาน โดยในปี 65 การบริโภคภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับ 5.7% จากปีนี้ที่ไม่ขยายตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 2 แสนคน และภายในปี 65 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบจะเป็นเรื่องการควบคุมโรคระบาดได้ช้ากว่าคาด ส่งผลให้โควิด-19 กลับมาระบาดอีกรอบ จึงยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น โดยเทียบการประชุมเดือนก.ย.และมิ.ย.การฟื้นตัวระยะต่อไปจะมาจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูง  โดยยังมีความเสี่ยงเรื่องของการกลายพันธุ์ การกลับมาระบาดระลอกใหม่ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถึงความเชื่อมั่นและแรงผลักดันของนโยบายภาครัฐ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่คณะกรรมการยังต้องติดตามต่อไป”