ธปท. เผยเศรษฐกิจ ก.ย. ส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังรัฐคลายล็อกกิจกรรม

ธปท.

ธปท. เผยเศรษฐกิจเดือน ก.ย. ส่งสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายล็อกดาวน์-กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกปลดล็อกหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 เกาะติดวัคซีน-ระบาดระลอกใหม่-น้ำท่วมเป็นความเสี่ยงด้านต่ำ หลังเศรษฐกิจ ส.ค. เครื่องชี้วัดหดตัว การบริโภคอ่อนแอ-การลงทุนชะลอ-ส่งออกแผ่วตามเศรษฐกิจคู่ค้า ชี้ ค่าเงินบาทอ่อนตามนโยบายการเงินของประเทศหลักเริ่มกลับข้าง-โควิดรุนแรง ยันดูแลไม่ให้ผันผวนเร็ว

วันที่ 30 กันยายน 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม 2564 ว่า เศรษฐกิจเดือน ส.ค. ได้รับผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยเป็นเดือนที่มียอดผู้ติดเชื่อสูงสุด และมีการขยายมาตรการควบคุมการระบาด (ล็อกดาวน์) จาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด รวมถึงการกลับมาระบาดในต่างประเทศ ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลง และภาคการส่งออกที่แผ่วลง

ชญาวดี ชัยอนันต์

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือนกันยายนเศรษฐกิจมีสัญญาณดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้ในหลายกิจกรรม โดยจากข้อมูลเร็วชี้วัดว่าเศรษฐกิจในเดือนกันยายนทยอยดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ยังคงเห็นการลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 และจะทยอยกลับมาดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากปัจจัยของปริมาณวัคซีนที่จะเข้ามาเร็วและมาต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทำให้โควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจเติบโตได้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ยังต้องติดตาม เช่น ปัจจัยน้ำท่วม แม้จะมีผลกระทบไม่มาก และเป็นผลกระทบทางอ้อมจากขนส่ง แต่เป็นปัจจัยที่ ธปท.ต้องมอนิเตอร์

“หากมองไปข้างหน้าหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาอย่างช้า ๆ และกลับมาในทุกกิจกรรมหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน ก.ย. น่าจะผ่อนคลายดีขึ้น โดยต้องจับตาว่ามองว่าตัวเลขกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นจะวิ่งได้เร็วแค่ไหน”

สำหรับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมภาพรวมลดลงต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม โดยภาคการบริโภคเอกชนลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ -2.6% จากเดือนก่อนอยู่ที่ -4.4% เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อที่อ่อนแอลง โดยหมวดที่ลดลงค่อนข้างแรงจะเป็นยอดขายรถยนต์ และสินค้าไม่คงทน ทั้งนี้ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการพยุงกำลังซื้อ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ แต่ช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน

ขณะที่ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น โดยจำนวนผู้ประกันตนมาตรการ 39 ที่ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยาของภาครัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการ 39 เป็นผู้ที่ถูกเลิกจ้างเกิน 6 เดือน แต่ยังไม่สามารถหางานทำได้และยังอยู่ในระบบยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้ประกันมาตรการ 40 ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่จากข้อมูลสำรวจความกังวลของผู้ประกอบการอิสระออกมาเป็นลบต่อเนื่อง 3 เดือน

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ -1.6% ตามภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นธุรกิจที่อ่อนแอ โดยปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ค่อนข้างมากทั้งภาคการผลิตและบริการ ซึ่งหมวดการลงทุนลดลงทั้งอุปกรณ์และเครื่องจักร ขณะที่หมวดการก่อสร้างปรับดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มแคมป์คนงานก่อสร้าง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวได้ 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับภาคต่างประเทศ ในส่วนของเศรษฐกิจคู่ค้าโดยรวมชะลอตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ สะท้อนจากยอดค้าปลีกในหลายประเทศชะลอตัวลดลง ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยชะลอตัวลดลงมาอยู่ที่ -3.5% จากเดือนก่อนอยู่ที่ -0.9% และในภาวะอุปสงค์ที่อ่อนแอและปัญหา Supply Disruption ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงทุกสัญชาติจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ ตลอดจนไทยได้รับการปรับความเสี่ยงสูงจากต่างประเทศเนื่องจากมีการระบาดรุนแรง โดยในเดือนสิงหาคมมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 1.51 หมื่นราย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วง 8 เดือนแรกไทยขาดดุลอยู่ที่ 10.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยเป็นผลมาจากปัจจัยภายในและภายนอก

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในเดือนสิงหาคมแข็งค่าขึ้น และกลับมาอ่อนค่าในเดือนกันยายน โดยอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยืดเยื้อ โดยจะเห็นว่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าค่อนข้างมากในช่วงปลายเดือนกันยายนอีกครั้ง

ซึ่งปัจจัยหลักมาจากนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ส่งสัญญาณการกลับข้างนโยบายการเงินที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัทในจีน ซึ่งจากปัจจัยหลากหลาย ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง และอ่อนค่าค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ดี ธปท.ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป