ธปท. ยันดูแลเงินบาทใกล้ชิด หลังอ่อนค่าจากสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัว 

เงินบาท

ธปท.เผยเงินบาทอ่อนค่ากว่าคู่ค้าคู่แข่ง เหตุปัจจัยการระบาดโควิด-ผลขาดดุลบัญชีเดินสะพัด-ธนาคารกลางประเทศหลักส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินกลับข้างแบบตึงตัวขึ้น-ความเสี่ยงสภาพคล่องบริษัทในจีน หนุนบาทอ่อนค่าเร็ว ยันดูแลติดตามใกล้ชิดไม่ให้ผันผวนเร็ว ด้านเงินบาทปิดตลาดระดับ33.87 บาทต่อดอลลาร์ หลังอ่อนค่าในรอบกว่า 4 ปีที่ระดับ 33.97 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 30 กันยายน 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่ง ส่วนหนึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยืดเยื้อ รวมถึงปัจจัยดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยในเดือนส.ค.ขาดดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วง 8 เดือนแรกไทยขาดดุลอยู่ที่ 10.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง


ทั้งนี้ จะเห็นว่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าค่อนข้างมากในช่วงปลายเดือนกันยายนอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ส่งสัญญาณการกลับข้างนโยบายการเงินที่ชัดเจนขึ้น โดยเริ่มเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้น ทำให้โทนการทำนโยบายจะกลับมาใช้นโยบายที่ตึงตัวมากขึ้นรวมถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ที่อาจจะลุกลามกลายเป็นความเสี่ยงในเชิงระบบในจีน ซึ่งจากปัจจัยหลากหลาย ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง และอ่อนค่าค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ดี ธปท.ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป

“เราจะเห็นว่าเงินบาทในช่วงปลายเดือนส.ค. เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นเป็นจากยอดผู้เชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มลดลง และเฟดส่งสัญญาณแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะยังผ่อนคลายต่อเนื่อง ทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าและบาทกลับมาแข็งค่า แต่ที่เห็นเมื่อวานเงินบาทอ่อนค่าเร็วก็มาจากกรรมการเฟดหลายคนออกมาพูดส่งสัญญาณมากขึ้นเราจึงเห็นเงินบาทวิ่งเร็ว โดยเราติดตามใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ผันผวนเร็ว” 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีที่ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงสิ้นเดือนและสิ้นไตรมาส ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสัญญาณขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 33.70-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในประเทศ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศ ประกอบด้วย รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ