เปิดแผนธุรกิจ “เฮงลิสซิ่ง” จ่อเข้าตลาดหุ้น รองรับขยายตลาดสินเชื่อ

เช่าซื้อรถ

ธุรกิจลีสซิ่งตบเท้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ผู้ประกอบการรายใหญ่จากภาคเหนือ ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว เตรียมเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ) จำนวนไม่เกิน 800.83 ล้านหุ้น

จากนั้นจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยทาง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “สุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG ถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายในระยะต่อไป

ขยายจาก “เหนือ” สู่ “อีสาน”

“สุธารทิพย์” เล่าที่มาว่า “เฮงลิสซิ่ง” เกิดจากการรวมตัวกันของ 4 กลุ่มบริษัทในภาคเหนือ และเริ่มต้นจากธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถ ทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถใช้เพื่อการเกษตรสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน และสินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน ก่อนจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

รวมถึงธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต โดยบริษัทมีสัดส่วนธุรกิจในภาคเหนือสูงถึง 42% มีสาขาในภาคเหนือที่มีถึง 171 แห่ง จากสาขาที่มีทั้งหมด 451 แห่ง ครอบคลุม 52 จังหวัด พนักงานรวมกว่า 1,500-1,600 คน

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มธุรกิจที่มองว่ามีโอกาสขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะลูกค้าที่ต้องการสภาพคล่อง แต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน (unbank) ที่ปัจจุบันมีกว่า 62%

บริษัทจึงมองว่าเป็นโอกาสในการเติบโตซึ่งสอดคล้องกลุ่มลูกค้าของบริษัทที่มีรายได้ขั้นต่ำ 6,000-7,000 บาทต่อเดือนเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคลจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งหากกลุ่มนี้เข้ามาใช้สินเชื่อในระบบมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจด้วย

“บริษัทต้องการขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาคอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีสาขาเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 131 สาขา รองจากภาคเหนือ แต่ภายใน 2 ปีจากนี้ ภาคอีสานจะเป็นภาคที่มีสาขามากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่เป้าหมายและเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งจะช่วยขยายกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้นและหนุนแผนเติบโต 3 ปีตามเป้าหมาย”

รุก “จำนำทะเบียนรถ”

สำหรับเป้าหมายธุรกิจระยะต่อไป “สุธารทิพย์” กล่าวว่า จากภาพรวมตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่มีทิศทางขยายตัวมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 20%

โดยในปี 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างสูงถึง 3.35 แสนล้านบาท เพิ่มจากปี 2559 ที่อยู่ 1.59 แสนล้านบาท ขณะที่การซื้อรถมือ 2 มีสัดส่วนน้อยลง แต่เห็นสัญญาณคนที่มีรถและต้องการสภาพคล่องนำมาจำนำทะเบียนมากขึ้น

ประกอบกับพอร์ตลูกค้าเช่าซื้อที่มีอยู่ราว 5,000-6,000 ล้านบาท เมื่อผ่อนรถครบ 5 ปี จะทยอยเข้ามาใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลราว 1,000 ล้านบาท จึงเป็นโอกาสในการขยายการเติบโตไปยังธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมถึงกลุ่มสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่จะซื้อรถและจำนำทะเบียน เพื่อใช้เงินหมุนเวียนในธุรกิจ

โดยภายใน 3 ปี หรือปี 2566 บริษัทจะให้ความสำคัญกับพอร์ตจำนำทะเบียนรถมากขึ้น โดยตั้งเป้าขยับสัดส่วนพอร์ตจำนำเพิ่มขึ้นเป็น 45% ยอดคงค้าง 6,680 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 27% หรือ 2,280 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 3 เท่า ขณะที่พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจะปรับลดลงจาก 65% ยอดคงค้าง 5,515 ล้านบาท เหลือ 38% หรือ 5,100 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างรวม 1.48 หมื่นล้านบาท

“เราจะให้ความสำคัญกับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทน (yield) ที่ดีกว่า แม้ว่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จะสูงกว่าเช่าซื้อ แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าไม่ต้องการวงเงินสูง ทำให้เอ็นพีแอลไม่ได้สูงมาก โดยจำนำทะเบียนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.16% และเช่าซื้อเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.19% ขณะที่ยีลด์จำนำทะเบียนสามารถคิดดอกเบี้ยได้ 24% แต่บริษัทคิดอยู่เฉลี่ย 22.5% เทียบกับเช่าซื้อที่คิดอยู่ 20% เราได้ส่วนต่างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 2.5% ถือว่าค่อนข้างดี และเรามองว่าตลาดจำนำยังขยายตัวสูงเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปี และคนยังต้องการสภาพคล่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตโควิด”

ไม่กังวลตลาดแข่งขันเดือด

ทั้งนี้ “สุธารทิพย์” ยอมรับว่า การแข่งขันในตลาดจำนำทะเบียนรถค่อนข้างรุนแรง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดที่เป็นเจ้าใหญ่จะมีกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะ ซึ่งเน้นรถจักรยานยนต์ แตกต่างจากเฮงลิสซิ่งที่มีสินเชื่อหลากหลาย และออกแบบจำนวนงวด วงเงิน และอัตราการผ่อนชำระตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงรับจำนำรถอายุเฉลี่ยสูงถึง 6-15 ปี

“แม้ว่าเจ้าใหญ่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำ แต่เชื่อว่าลูกค้าไม่ได้มองดอกเบี้ยต่ำ แค่ปัจจัยเดียว แต่มองการเข้าถึงสินเชื่อ ดังนั้น ดอกเบี้ยต่างกัน 1-2% จึงไม่มีผลมากนัก ขณะเดียวกัน บริษัทไม่ได้คิดดอกเบี้ยเต็มเพดานอยู่แล้ว หากวงเงินยิ่งไม่สูงมาก ดอกเบี้ยจะยิ่งถูกลง”

อัพเกรดไอที-รุกสินเชื่อดิจิทัล

นอกจากนี้ การขยายธุรกิจและสาขาให้เป็นไปตามเป้าหมายแผน 3 ปี บริษัทจำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับระบบปฏิบัติการทางด้านไอทีเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงรองรับผลิตภัณฑ์ที่จะมีหลากหลาย ตลอดจนการปรับระบบให้มีความยืดหยุ่นได้ในกรณีผู้กำกับดูแลออกเกณฑ์การกำกับเพิ่มเติม ตลอดจนการพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า โดยวางงบประมาณทางด้านไอทีไว้ราว 70-80 ล้านบาท


“บริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขออนุญาตทำสินเชื่อออนไลน์ (digital lending) คาดว่าภายในปี 2565 น่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อออนไลน์ได้ โดยจะเริ่มจากสินเชื่อไม่มีหลักประกันก่อน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG กล่าว