MTC ไม่หวั่นแบงก์โดดชิงเค้กสินเชื่อรายย่อย ยันคงเป้าโต 30%

บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC ยันไม่กังวลตลาดสินเชื่อ Consumer Finance แข่งดุหลัง แบงก์ใหญ่ส่งบริษัทลูกเข้าชิงส่วนแบ่งตลาด มั่นใจกลุ่มลูกค้าแยกประเภทกันอย่างชัดเจน ชูจุดแข็งเน้นปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ มีจำนวนสาขากระจายทั่วประเทศ ตั้งเป้ามีสาขาครบ 7 พันสาขาใน 3 ปี เผยสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่มีผลกระทบ มั่นใจเป้าสินเชื่อปีนี้เติบโต 30% ตามเป้าหมาย

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) ผู้นำตลาดสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่าจากการที่ธนาคารแห่งหนึ่งประกาศปรับโครงสร้างเพื่อเข้าแข่งขันในตลาดกลุ่มสินเชื่อ Consumer Finance ผ่านบริษัทลูก จึงทำให้เกิดความกังวลจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่ม Consumer Finance ซึ่งประเมินว่า MTC ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และเป็นแค่ความกังวลตาม Sentiment ตลาดเท่านั้น

ทั้งนี้ หากดูจากพื้นฐานความจริงธนาคารมีการทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถอยู่แล้ว ซึ่งเหมือนกับทุก ๆ ธนาคารที่มีบริษัทลูกทำเรื่องสินเชื่อทะเบียนรถ ดังนั้นการเข้ามาของบริษัทใหม่จึงไม่ใช่ผู้เล่นรายใหม่แต่อย่างใด อีกทั้ง MTC มีจุดแข็งตรงที่เน้นการปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ ในขณะที่ธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเป็นคนละตลาดกัน ดังนั้นการเข้ามาของผู้ประกอบการดังกล่าว จึงไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของ MTC แต่ประการใด

รวมทั้งเมื่อพิจารณาในแง่การตั้งสาขาของธนาคารเป็นแบบกระจุกตัว เฉพาะในอำเภอใหญ่ ต่างกับ MTC ที่เน้นการกระจายตัวในระดับตำบล ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดนครราชสีมา ธนาคารมีจำนวนสาขาเพียง 22 สาขา ในขณะที่ MTC มีสาขาให้บริการ 285 สาขา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 289 ตำบลในจังหวัดนครราชสีมา และเมื่อดูจากพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน ยังที่ไม่นิยมเดินทางข้ามพื้นที่ไกล ๆ เพื่อไปยังจุดบริการสินเชื่อ ดังนั้นการตั้งสาขาเพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นจุดแข็งของ MTC โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของ MTC อยู่ในปัจจุบัน

“MTC ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสภาวะการแข่งขัน กลับมองเป็นโอกาสในการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง และได้มองหาโอกาสการขยายไปสู่ช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มเติบโตใหม่ของ MTC ระหว่างนี้ได้เตรียมพัฒนา Hybrid Platform กล่าวคือ การให้บริการบางอย่างที่แต่เดิมทำได้ผ่านสาขาเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้จะสามารถทำได้ผ่านทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่คุ้นเคยการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดีอยู่แล้ว” นายชูชาติกล่าว

ประธานกรรมการบริหารกล่าวอีกว่า ในเรื่องความกังวลจากสถานการ์น้ำท่วม MTC ได้มีการติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด สำหรับสาขาที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ สาขาในจังหวัดนครราชสีมา สุโขทัย นครสวรรค์ และชัยภูมิ ซึ่งอาจทำให้บริษัทเสียโอกาสเล็กน้อยในเชิงที่ลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาขอกู้ยืมที่สาขาได้ ส่วนในเรื่องผลกระทบต่อการชำระหนี้คืนของกลุ่มเกษตรกร บริษัทมองว่าไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผลผลิตในแถบพื้นที่ที่ประสบภัยส่วนมากเป็นนาข้าว ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ อีกทั้งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยช่วยเหลือไร่ละ 1,500 บาท จำนวน 20 ไร่ อีกทั้งสถานการณ์น้ำในขณะนี้กำลังดีขึ้น ทำให้ความเสี่ยงจากน้ำท่วมไม่ส่งผลกระทบยาวนานนัก

สำหรับการเติบโตในปี 2564 MTC ยังคงเป้าหมายการเติบโตที่ 30% ณ สิ้นปี 2564 จากยอดลูกหนี้คงค้าง 8 เดือนที่เติบโตกว่า 26% ซึ่งเป็นการเติบโตด้วยสัดส่วนเท่าๆ กันในทุกประเภทสินเชื่อ โดยปัจจัยหนุนที่สำคัญ ได้แก่ 1.ดัชนีรายได้เกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น 2.แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 3.ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบอาชีพ และในปี 2565 บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 30% เช่นกัน

ในมุมมองของเป้าหมายการเติบโต MTC ยังคงมุ่งเน้นการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อผ่านการขยายสาขาอีกไม่น้อยกว่า 700 สาขาต่อปี โดยตั้งเป้าหมายมีสาขามากกว่า 7,000 สาขา ภายใน 3 ปี สำหรับเป้าหมายการเติบโตนั้นก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ โดยสร้างวินัยการเงินที่ดีให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจและชุมชนสามารถเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน