ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดัน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (20/11) ที่ระดับ 32.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 32.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรับ จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแม้ว่าเมื่อวันศุกร์ (17/11) จะมีความเห็นเชิงบวกจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดออกมาก็ตาม โดยนายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟดสาขาดัลลัส ได้คาดการณ์ว่า คณะกรรมการ FOMC จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม เนื่องจากอัตราว่างงานของสหรัฐปรับตัวลดลง ขณะที่วิลเลียม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเขามองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม ทั้งนี้การอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐตลอดทั้งสัปดาห์นั้น ได้รับแรงกดดันจากความกังวลของนักลงทุนยังคงเกี่ยวกับแผนปฏิรูปภาษีในสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันจะไม่สามารถผลักดันมาตรการปรับลดภาษีดังกล่าวให้ผ่านสภาคองเกรสได้ทันก่อนสิ้นปีนี้ รวมถึงการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 31 ตุลาคม-1 พฤศจิกายนที่ไม่มีข้อบ่งชี้ถึงปัจจัยใหม่ ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น โดยรายงานระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม แม้กรรมการเฟดส่วนหนึ่งยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อก็ตาม โดยกรรมการเฟดยังคงประเมินภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐไว้ที่ระดับเดียวกับการประเมินครั้งก่อน โดยเชื่อว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคเอกชนจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะใกล้นี้ พร้อมระบุว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้ได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งจากพายุเฮอร์ริเคน อย่างไรก็ตาม กรรมการเฟดบางคนได้แสดงความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แม้อัตราว่างงานปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลซึ่งเป็นตัวเลขที่เฟดให้ความสำคัญเนื่องจากสามารถบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้น เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ในเดือนกันยายนซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2.0% ดังนั้นจึงเห็นว่าเฟดควรดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศไทยนั้นระหว่างสัปดาห์นั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 3 ปี 2560 ขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส และถือว่าขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้โดยรวมแล้วในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2560) เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.8% นอกจากนี้สภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์ GDP ของไทยทั้งปี 2560 เป็นขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง  3.5-4.0% และคาดการณ์ GDP ในปี 2561 จะเติบโตในช่วง 3.6-4.6 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.66-32.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่งในวันพุธ (22/11) ที่ระดับ 32.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะปิดตลาดในวันศุกร์ (24/11) ที่ระดับ 32.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ เปิดตลาดในจันทร์ (20/11) ที่ระดับ 1.1743/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 1.1795/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17/11) ธนาคารกลางยุโรปรายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือนกันยายนออกมาเกินดุล 37.8 พันล้านยูโร เกินดุลมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 30.2 พันล้านยูโร นอกจากนั้นแล้วค่าเงินยูโรยังถูกกดดันอย่างหนักจากการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมของเยอรมนีที่ยังไม่สามารถบรรลุผล แม้ว่าการเจรจาต่อรองจะดำเนินมาเป็นเวลากว่า 4 สัปดาห์แล้วก็ตาม โดยการประชุมร่วมระหว่างพรรครัฐบาลผสมซึ่งนำโดยนางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีจากฝั่งอนุรักษ์นิยม และตัวแทนจากพรรคประชาธิปไตยเสรี (เอฟดีพี) ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือใหม่ของพรรครัฐบาลผสมภายใต้ชื่อ “กรอบความร่วมมือจาไมก้า” ได้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องผู้อพยพและสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมถึงการยกเลิกการใช้ถ่านหินด้วย แม้ว่าพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมจะสามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา แต่คะแนนเสียงที่ได้รับจำนวน 32.9% นั้นยังถือว่าต่ำมาก ซึี่งหมายความว่า พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมจำเป็นต้องอาศัยเสียงจากพรรคเอฟดีพี ร้อยละ 10.7 และพรรคกรีนอีก ร้อยละ 8.9 เพื่อที่จะสามารถครองเสียงข้างมากกว่าครึ่งในสภา ความล้มเหลวในการเจรจาดังกล่าวทำให้นางแมร์เคิลขาดเสียงข้างมากในนรัฐสภา และอาจจะกดดันให้เยอรมนีต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในอนาคต อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโร ได้เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งหนึ่งในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงเทขายดอลลาร์ของนักลงทุน แม้ว่านายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้แถลงต่อรัฐสภายุโรปว่า แม้เศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ ECB ยังจำเป็นต้องเดินหน้านโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เพื่อกระตุ้นค่าแรงให้สูงขึ้้น โดยนายมาริโอ ดรากี กล่าวว่าทางอีซีบี ได้ทำการสำรวจพบว่า แม้ว่าตลาดแรงงานของยูโรโซนเริ่มฟื้นตัว แต่อัตราค่าแงรงก็จำเป็นต้องปรับตัวสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้อีซีบีจึงเล็งเห็นว่า การขยายเวลาการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปในช่วงหลังสิ้นปีนี้ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลักดันเงินเฟ้อให้กลับคืนสู่ระดับที่ยั่งยืน โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1720-1.1856 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตัวที่ระดับ 1.1842/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ เปิดตลาดในวันจันทร์ (20/11) ที่ระดับ 112.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 112.55/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการกลับเข้าถือครองเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากที่นักลงทุนต่างกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในสหรัฐ และเยอรมนี นอกจากนี้เองตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนค่าเงินเยนเช่นกัน โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้า 2.8536 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนตุลาคม ซึ่งทำสถิติเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จากยอดการส่งออกไปยังจีนและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ยอดส่งออกในเดือนตลุาคมปรับตัวขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 6.69 ล้านล้านเยน ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.05-112.62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.42/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ