แบงก์รัฐออกมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม จัดสินเชื่อ-พักหนี้นานสูงสุด 12 เดือน

แบงก์รัฐออกมาตรการช่วยน้ำท่วม “ออมสิน” ให้กู้ฉุกเฉิน พักหนี้นาน 3 เดือน ด้าน ธ.ก.ส.ยืดเวลาชำระหนี้นาน 12 เดือน จัดสินเชื่อดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน ฝั่ง ธอส.ออก 7 มาตรการช่วยลูกค้า ส่วน “ไอแบงก์”  พักหนี้เงินต้นนาน 6 เดือน

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ ล่าสุด สถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้ออกมาตรการมาบรรเทาผลกระทบลูกค้าที่ได้รับความเสียหายดังกล่าว โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูล ดังนี้

ออมสิน ให้กู้ฉุกเฉิน-พักหนี้นาน 3 เดือน ช่วยน้ำท่วม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ประกอบการในพื้นที่น้ำท่วมดังกล่าวแล้ว โดยให้กู้ฉุกเฉิน ที่มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ผ่อนปรน อัตราดอกเบี้ยต่ำ และปลอดชำระหนี้ 3 เดือน สำหรับซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซื้อสิ่งของจำเป็น แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสร้างความเสียหายต่อลูกค้าและประชาชนเป็นวงกว้าง ธนาคารออมสินจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

โดยลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทของธนาคาร ให้พักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน (ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท) ที่มีที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน หรือสถานประกอบธุรกิจอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและมีประกาศของทางราชการให้เป็นพื้นที่ประสบภัย รวมถึงลูกค้าที่พักชำระหนี้มาตรการอื่น ๆ ของธนาคารอยู่แล้ว และได้รับผลกระทบน้ำท่วมครั้งนี้ สามารถขอเข้ามาตรการดังกล่าวนี้ได้ โดยให้ติดต่อสาขาธนาคารออมสินที่มีบัญชีสินเชื่ออยู่ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ หลังครบกําหนดผ่อนผันพักชำระหนี้ 3 เดือนแล้ว ให้ชําระเงินงวดตามสัญญาเดิม หากยังไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้ ขอให้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือเข้ามาตรการอื่นที่ธนาคารมีอยู่ได้ ซึ่งธนาคารได้มีการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการแพร่ระบาดของโควิด-19

ธ.ก.ส.ยืดเวลาพักชำระหนี้นาน 12 เดือน จัดสินเชื่อดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน และผลผลิตได้รับความเสียหายจนส่งผลกระทบต่อรายได้แต่มีภาระหนี้สินอยู่ โดย ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยออกไปสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ตามศักยภาพโดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย

พร้อมจัดเตรียมสินเชื่อฉุกเฉินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และตั้งแต่เดือนที่ 7 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี เพื่อนำไปใช้จ่ายที่จำเป็นภายในครัวเรือน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพทางการเกษตรระยะสั้น อาทิ โครงการ 459 โครงการครึ่งไร่คลายจน เป็นต้น

รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายและค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเสริมอื่น ๆ วงเงินรายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยกรณีกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน พิเศษไม่เกิน 18 เดือน กรณีกู้เพื่อลงทุน ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 4-5 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เงื่อนไขในการอนุมัติเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

ธอส.ออก 7 มาตรการช่วยลูกค้าโดนน้ำท่วม วงเงินกว่า 100 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดน้ำท่วมหลากฉับพลันบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากการเกิดมรสุม ธอส. พร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2564” (กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย MRR -3.15% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3.00% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี

ส่วนกรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2564” ตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ไอแบงก์ ออกมาตรการพักหนี้เงินต้นนาน 6 เดือน ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) รายงานว่า มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปีนี้ ครอบคลุมทั้งลูกค้าบุคคลที่มีสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และลูกค้าธุรกิจที่มีสินเชื่อประเภทมีกำหนดระยะเวลา (Term Financing) ที่ได้รับผลกระทบทางตรง

เช่น ที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการได้รับความเสียหาย หรือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ธุรกิจหรือคู่ค้าได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและส่งผลต่อธุรกิจหรือการดำรงชีพของลูกค้า โดยธนาคารจะพิจารณา พักชำระหนี้เงินต้นไม่เกิน 6 เดือน ให้ชำระเฉพาะกำไรตามอัตราที่กำหนดในสัญญาปัจจุบัน สามารถขยายระยะเวลาสัญญาออกไปไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด (Late Charge) ที่เกิดขึ้นทั้งจำนวนจนถึงวันที่ปรับปรุงบัญชี

ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สาขาที่ท่านใช้บริการ หรือ ติดต่อพนักงานการตลาดสินเชื่อ (RM) ตั้งแต่วันนี้ – 31 ตุลาคม 2564 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ iBank Call Center 1302

วิธีตรวจสอบพื้นที่ประสบอุทกภัย ปี 2564 ตามประกาศราชการ
1. เข้าสู่เว็บไซต์ http://portal.disaster.go.th/portal/public/index.do;jsessionid=142F64F78C1C3CBA1605E96098FA77C9#dataTable
2. เลือกจังหวัดที่ต้องการค้นหา
3. เลือกประเภทภัย เลือก อุทกภัย
4. เลือกสถานะ เลือก ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
5. กดค้นหา