ธปท. ออกไกด์ไลน์ แนะบริหารความเสี่ยงร้านค้ารับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

ธปท.ร่อนหนังสือเวียนให้ธนาคารพาณิชย์-แบงก์รัฐ-น็อนแบงก์ กำหนดแนวนโยบายการรู้จัก-การบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้ารับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือเวียนให้กับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผู้ให้บริการการนำระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มิใช่สถาบันการเงิน เรื่องแนวนโยบายการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้าสำหรับการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Policy Guideline: Know Your Merchant (KYM)

โดยหนังสือเวียนระบุว่าที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า (Know Your Customer: KYC) สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงิน และการเปิดใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การรู้จักลูกค้าให้มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ รองรับการทำธุรกรรมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายเป็นวงกว้าง

ธปท. เห็นควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินที่ให้บริการรับชำระเงินแก่ ร้านค้าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีกระบวนการรู้จักและพิสูจน์ทราบร้านค้า รวมทั้งการบริหารจัดการ ความเสี่ยงที่เพียงพอเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของร้านค้า ธปท. จึงกำหนดแนวนโยบายการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้าสำหรับการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบ ธุรกิจใช้เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

ทั้งนี้ สรุปสาระสำคัญที่ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการ ดังนี้ 1. จัดให้มีการประเมินและจัดระดับความเสี่ยงร้านค้า (Merchant categorization) โดย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) ร้านค้าทั่วไป (2) ร้านค้าที่เข้าลักษณะความเสี่ยงสูง และ (3) ร้านค้าที่เข้าลักษณะต้องห้าม

และ 2.กําหนดนโยบายการรู้จักร้านค้า แนวปฏิบัติและกระบวนการประเมิน ติดตาม สอบทาน และบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการรู้จักร้านค้าจนถึงการยุติความสัมพันธ์กับร้านค้าตามระดับความเสี่ยงร้านค้า และสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สำหรับร้านค้าที่เข้าลักษณะความเสี่ยงสูง ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดนโยบายแนวปฏิบัติ และกระบวนการสำหรับร้านค้าเพิ่มเติมจากแนวปฏิบัติขั้นต่ำที่ใช้กับร้านค้าทั่วไป รวมถึงกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่วางไว้อย่างเคร่งครัด