ธ.ก.ส.ชะลอเคาะประกันราคาข้าว หวั่นดันหนี้สาธารณะพุ่ง-รอครม.ชี้ชะตา

“อาคม” นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.ยังไม่เคาะประกันรายได้ข้าวตามมติ นบข. วงในเผยกังวลใช้วงเงินงบประมาณสูงกว่าปีก่อนเกือบ 2 เท่า หวั่นดันหนี้สาธารณะพุ่ง รอกระทรวงพาณิชย์ชง ครม.ตัดสินใจภายในเดือน ต.ค.นี้ ชี้่ส่อแววหั่นวงเงินต่ำกว่า 1.52 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้เสนอกรอบโครงการการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/2565 กรอบวงเงินรวมกว่า 1.52 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เห็นชอบไปแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมการไว้ เพราะหากได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ธ.ก.ส.จะสามารถดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้ทันที

อย่างไรก็ดี บอร์ด ธ.ก.ส.ยังไม่ได้มีมติเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมองว่า วงเงินในการประกันรายได้ข้าวปีนี้ตัวเลขค่อนข้างมาก สูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 2 เท่า ซึ่งจะมีผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะ ที่จะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 60% ของ GDP ไปมาก ดังนั้น จึงจะรอให้ ครม.เห็นชอบก่อน

เนื่องจากช่วงนี้รัฐบาลกังวลเรื่องหนี้สาธารณะ แม้ว่าล่าสุดจะมีการขยับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% แล้วก็ตาม แต่หากรวมความช่วยเหลือดูแลประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ที่จะออกมาเพิ่มเติม และกลไกในการตลาดที่เข้ามาช่วยเหลือสินค้าเกษตรต่าง ๆ หนี้สาธารณะก็อาจจะใกล้เคียงกรอบ 70% มากขึ้น เพราะระยะต่อไปยังมีมาตรการที่จะต้องช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ดูแลเรื่องภัยธรรมชาติ ชดเชยต้นทุนการผลิต และอื่น ๆ อีกหลายรายการ

“ที่ผ่านมาแนวโน้มการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ข้าวเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเกษตรกรบางส่วนเห็นรัฐมีนโยบายสนับสนุนก็มาขึ้นทะเบียน พื้นที่เพาะปลูกก็มากขึ้น มีการเปิดลงทะเบียนหลายรอบ มีทั้งรอบตกสำรวจด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหากรรมสิทธิ์ เป็นที่เช่า และการสอบทาน ซึ่งยอมรับว่าเกษตรตำบลไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ก็จะเป็นปัญหาคนทำจริง ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินก็ไม่ได้ทำ ซึ่งเมื่อเป็นงานนโยบายที่มีต่อเนื่องกันมาหลายปี ก็เริ่มมีการใช้ช่องว่างของโครงการ โดยส่วนราชการหลายส่วน เริ่มมีการประเมินว่า วงเงินที่มาค่อนข้างสูง แต่ความเข้มแข็งในการตรวจสอบภาคประชาสังคมก็ยังน้อย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน, ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง และข้าวโพด ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองด้วย เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ดังนั้น บอร์ด ธ.ก.ส.จึงรอดำเนินการตามมติ ครม. ซึ่งคาดว่า ครม.อาจจะไม่ได้อนุมัติวงเงินโครงการประกันรายได้ข้าวตามกรอบที่ นบข.เห็นชอบทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ ธ.ก.ส.ก็จะต้องมีการเตรียมการไว้สำหรับจ่ายเงินให้กับเกษตรกร โดยวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินประกันรายได้ และขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ได้ต่างจากเดิม

ดังนั้น บอร์ด ธ.ก.ส.จึงมองว่ายังมีเวลาในการหารือร่วมกันอีกครั้ง ส่วนวงเงินที่ต้องใช้ 1.5 แสนล้านบาทนั้น จากสถานะการเงินของ ธ.ก.ส.ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่ต้องรอติดตามอีกครั้งว่า ครม.จะมีมติอย่างไร โดยคาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะเสนอ ครม.ภายในเดือน ต.ค.นี้

สำหรับโครงการการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/2565 กรอบวงเงินรวมกว่า 1.52 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการ นบข.เห็นชอบไปแล้ว แบ่งเป็น 1.โครงการประกันรายได้ชาวนา วงเงิน 89,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้วงเงินเพียง 50,642 ล้านบาท 2.โครงการช่วยเหลือค่าบริหารจัดการข้าว โดยจ่ายให้กับครัวเรือนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำกัดไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกิน 20,000 บาท วงเงินรวม 54,972.72 ล้านบาท


3.มาตรการคู่ขนาน โดยมีเป้าหมายชะลอการขายข้าว 10.5 ล้านตัน เป็นวงเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายขาด 7,765.98 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 1) สินเชื่อชะลอการเก็บเกี่ยวข้าวฯ วงเงิน 20,410.9 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายขาด 5,853.48 ล้านบาท 2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายขาด 562.5 ล้านบาท 3) การชดเชยดอกเบี้ย วงเงิน 540 ล้านบาท และ 4) การส่งเสริมและผลักดันการส่งออก วงเงิน 810 ล้านบาท