ดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่า แม้ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนขยายตัวเกินคาด

dollar
REUTERS/Mohamed Azakir

ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่า แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนขยายตัวเกินคาด ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.70-33.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/10) ที่ระดับ 33.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/10) ที่ระดับ 33.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อคืนนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง ถึงแม้ว่าเมื่อคืนนี้ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ จะขยายตัวเกินคาดในเดือนกันยายน โดยมีการเปิดเผยว่าการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 568,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายนสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 425,000 ตำแหน่ง และมากกว่าระดับ 340,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม

อย่างไรก็ตามสินทรัพย์เสี่ยงกลับแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าเกิดจากการที่นักลงทุนยังคงมีความหวังว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันและเดโมแครตในสภาคองเกรสสหรัฐจะสามารถบรรลุข้อตกลงการขยายเพดานหนี้ หลังจากที่นายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่าพรรครีพับลิกันจะสนับสนุนการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐออกไปจนถึงเดือนธันวาคม

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงนักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนกันยายนในวันศุกร์นี้ โดยทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายนของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 475,000 ตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าในเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่ง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจในประเทศ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 41.4 จากระดับ 39.6 ในเดือนสิงหาคม หลังจากได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.70-33.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/10) ที่ระดับ 1.1559/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/10) ที่ระดับ 1.1531/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรฟื้นตัวขึ้น จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามยังถูกกดดันหลังมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก

โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลง -4.0% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ -0.4% และต่ำกว่าในเดือนสิงหาคมที่ 1.3% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1551-1.1569 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1558/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/10) ที่ระดับ 111.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/10) ที่ระดับ 111.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังแกว่งตัวในกรอบ หลังนักลงทุนเริ่มคลายกังวลหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและญี่ปุ่นปรับตัวแคบลง ซึ่งผิดกับก่อนหน้านี้ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยของทั้ง 2 ประเทศจะกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.30-111.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.45/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ จำนวนคนยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (7/10), อัตราการว่างงานในเดือนกันยายนของสหรัฐ (8/10), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนกันยายน (8/10)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.80/+0.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.40/+3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ