ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดกังวลภาวะเงินเฟ้อ นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงาน

Baht-ดอลลาร์-1

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังตลาดกังวลภาวะเงินเฟ้อ นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขจ้างงาน ขณะที่เงินบาททิศทางยังคงอ่อนค่า ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ  ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 4-8 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (4/10) ที่ระดับ 33.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/10) ที่ระดับ 33.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์์ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2534 และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคมสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.2%

ส่งผลให้ตลาดมีมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หลังประธานเฟดแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐภายใน 18 ต.ค.

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่าง ๆ กล่าวคือ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐดีดตัวขึ้น 1.2% ในเดือน ส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือน ก.ค. สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 61.9 ในเดือน ก.ย. และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 60.0 จากระดับ 61.7 ในเดือน ส.ค. โดยดัชนีได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ แม้ว่าการจ้างงานชะลอตัวลง

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าพุ่งขึ้น 4.2% สู่ระดับ 7.33 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 7.05 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงท้ายสัปดาห์ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 568,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 425,000 ตำแหน่ง จากระดับ 340,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค.

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดช่วงบวกลง โดยตลาดคลายความกังวล หลังจากผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐจากพรรคครีพับลิกันระบุว่าจะสนับสนุนการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐออกไปจนถึงเดือน ธ.ค. เพื่อข่วยให้สหรัฐหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้และวิกฤตเศรษฐกิจไปจนกว่าพรรคเดโมแครตจะสามารถผ่านร่างกฎหมายก่อนสิ้นปีนี้

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายนของสหรัฐ ในวันศุกร์นี้ (8/10) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้ในการพิจารณาการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายนของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 475,000 ตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าในเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่ง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธ์ศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 101.21 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 1.68% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคมถึงกันยายน 2564) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.83%

นอกจากนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ย. 64 ปรับตัวมาที่ 41.4 จากระดับ 39.6 ในเดือน ส.ค 64 โดยมีปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมทั้งขยายเวลาเคอร์ฟิว ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป, การฉีดวัคซีนของโลกและในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมและปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐิจ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.61-33.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (8/10) ที่ระดับ 33.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์นี้ (4/10) ที่ระดับ 1.1590/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/10) ที่ระดับ 1.1583/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยในช่วงสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า โดยยังคงถูกกดดันจากความแตกต่างในแง่ของการดำเนินนโยบายการเงินระหว่างเฟดกับอีซีบี และยังคงถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ผลกระทบจากปัญหาด้านการเงินของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ของจีน และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนยังเข้าถือดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของทางฝั่งยูโรโซนนั้น ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดผยในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 56.2 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 59.0 ในเดือน ส.ค. และอยู่ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ขั้นต้นที่ 56.1

สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีลดลง 4.0% ในเดือน ส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น  1.3% ในเดือน ก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผลผลิตจะลดลง 0.4% เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1529-1.1641 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/10) ที่ระดับ 1.1548/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (4/10) ที่ระดับ 110.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/10) ที่ระดับ 111.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนหลังจาก นายฟูมิโอะ คิชิตะ ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือแอลดีพี เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น พร้อมเตรียมเดินหน้านโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ประสบภาวะตกต่ำ

โดยเผยว่าเขาจะดำเนินตามคำมั่นที่ให้ไว้ว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นขนานใหญ่ เพื่อเยึยวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นายพิชิตจะระบุว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวมีวงเงินอยู่ที่ 10 ล้านล้านเยน และจะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงวิตกกังวลในประเด็นที่นายคิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ได้ประกาศว่า อาจจะปรับขึ้นภาษีรายได้ทางการเงิน

นอกจากนี้นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยคาดการณ์ในวันพฤหัสบดี (7/10) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะเริ่มปรับตัวขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากต้นทุนพลังงานดีดตัวขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อกำลังลุกลามไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงด้านเงินฝืดมาเป็นเวลานาน

โดยยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ลดน้อยลงแล้ว โดยได้ปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ต่างประเทศที่แข็งแกร่ง และจากการใช้มาตรการด้านการคลังขนาดใหญ่ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนด้านการเงิน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.82/111.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/10) ที่ระดับ 111.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ