สินเชื่อบุคคล ระอุ “หน้าเก่า-ใหม่”แห่ลงสนาม ปล่อยกู้ออนไลน์

แกร็บร่วมวงปล่อยกู้พีโลน

กระแสที่ธุรกิจกระโดดเข้าสู่สมรภูมิสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) รวมถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีมาร์จิ้น ยังขยายตัวได้ดี แม้แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สินเชื่อประเภทนี้ ก็มีความต้องการ เนื่องจากครัวเรือนและธุรกิจต้องการสภาพคล่อง ซึ่งผู้ให้บริการหลายรายก็มุ่งให้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

สำหรับรายล่าสุดที่เริ่มนับหนึ่งลุยธุรกิจพีโลน โดยเริ่มให้บริการสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็คือ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) ผู้ผลิตอาหารแบบครบวงจรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตไก่และสุกร โดยมีการดำเนินธุรกิจทั้งประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ที่ข้ามห้วยมาลุยธุรกิจพีโลนนี้ ผ่านการจัดตั้งบริษัทลูกที่ TFG ถือหุ้นสัดส่วน 88.50% ชื่อว่า “บริษัท มันนี่ ฮับ เซอร์วิส จำกัด”

“วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เปิดเผยว่า บริษัท มันนี่ ฮับ เซอร์วิส ได้เปิดให้บริการธุรกิจประเภทให้สินเชื่อแล้ว โดยเป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลในรูปแบบใหม่ ผ่านแอปพลิเคชั่น “มันนี่ฮับ” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นให้บริการสินเชื่อภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถยื่นกู้ง่ายได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านแอปพลิเคชั่น รู้ผลไวภายใน 5 นาที เพียงมีเงินเดือน เริ่มต้นแค่ 7,000 บาทต่อเดือนก็ยื่นกู้ได้ทันที โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน

โดยจะมีวงเงินอนุมัติสูงสุด 50,000 บาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นอยู่ที่ 2.08% ต่อเดือน สามารถเลือกผ่อนชำระได้ตามสะดวกไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาอนุมัติ และโอนเงินภายใน 1-3 วัน

“การทำธุรกิจสินเชื่อในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับพนักงาน ลูกค้า เกษตรกร และบุคคลทั่วไปที่ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปใช้ในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงการสร้างโอกาส และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจรายย่อย สามารถไปต่อได้ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19″ นายวินัยกล่าว

นอกจากนี้ ช่วงต้นปี ที่ผ่านมา ก็มีหลายธุรกิจที่ประกาศบุกตลาดสินเชื่อพีโลน อาทิ บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ที่ขยายสู่ตลาดพีโลน โดยตั้งบริษัท “บริษัท เน็คซ์ มันนี่ จำกัด” เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท
รวมถึงบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM ที่จัดตั้งบริษัท อีซี่ เลนดิ้ง จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลเพื่อซื้อประกันภัยและสินเชื่อบุคคลอเนกประสงค์ เน้นปล่อยกู้วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท

โดย ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธาน TQM กล่าวว่า บริษัทเตรียมเข้าทำการตลาดในธุรกิจสินเชื่ออย่างเต็มรูปแบบ หลังบริษัท อีซี่ เลนดิ้ง จำกัด ได้รับใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคลจาก ธปท. โดยจะเริ่มให้บริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อซื้อประกันภัยในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งในระยะแรกจะเป็นการให้บริการแก่ลูกค้าที่ทำประกันภัยกับ TQM ทั้งประกันภัยรถยนต์ และประกันอื่น ๆ

“การดำเนินธุรกิจใหม่ในครั้งนี้จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในต้นทุนที่สามารถลดได้ง่าย คือ ค่าใช้จ่ายที่บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ย บัตรเครดิตแก่สถาบันการเงิน และเป็นการเพิ่มรายได้แบบออแกนิคให้กับ TQM ขณะเดียวกันด้วยเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ในครั้งนี้จึงจะเป็นการช่วยลูกค้าให้ยังคงสามารถรักษาวงเงินในบัตรเครดิตไว้ เพื่อนำไปใช้บริหารจัดการในส่วนอื่น เพียงเปลี่ยนมาผ่อนชำระค่าเบี้ยประกันกับ TQM แทน” ดร.อัญชลินกล่าว

สำหรับการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ digital lending มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มฟินเทค ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ชัดเจน สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินได้ ทำให้เกิดแอปเงินกู้ฟินเทคเพิ่มขึ้นเป็นทางเลือก โดยล่าสุดบริษัท มันนิกซ์ จำกัด หรือ “MONIX” เป็นบริษัทฟินเทคร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และ Abakus Group จากประเทศจีน สร้างแพลตฟอร์ม “ฟินนิกซ์” (FINNIX) แอปพลิเคชั่นเงินกู้ เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท

นอกจากผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) แล้ว ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆยังมีการปรับโมเดลการให้บริการสินเชื่อประเภทนี้

อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่พร้อมรบทุกสมรภูมิ โดยอาศัยหลาย ๆแพลตฟอร์มในการปล่อยกู้ ทั้งการจับมือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) จัดตั้ง “บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB)” เพื่อร่วมกันให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) บนแพลตฟอร์ม ครอบคลุมฐานลูกค้าทั้งสององค์กรกว่า 50 ล้านคน ขณะเดียวกันก็ยังแยกธุรกิจบัตรเครดิตและพีโลนของแบงก์ ออกไปจัดตั้งบริษัทลูกอีกแห่ง “บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (Card X)” ตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ด้วยฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านราย และจำนวนสินเชื่อ 1.20 แสนล้านบาท พร้อมวางเป้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2567

นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีบริการแอป “เงินทันเด้อ” ภายใต้บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ที่ใช้เทคโนโลยีเอไอมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ชูจุดเด่นรู้ผลใน 15 นาที หลังจากยื่นขอสินเชื่อและรับเงินใน 24 ชั่วโมง โดยให้สินเชื่อภายใต้ใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ ดอกเบี้ย 33% ต่อปี

รวมถึงยังมีบริษัท มันนิกซ์ จำกัด ที่ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ผ่านแอปพลิเคชั่น “ฟินนิกซ์” เป็นแอปเงินกู้คู่คนทำมาหากิน เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน คิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 33%

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่เบิกร่องจับมือกับไลน์ (LINE) ตั้ง “บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด” หรือที่รู้จักกัน “LINE BK” ขึ้นมาลุยปล่อยกู้ผ่านไลน์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 มีลูกค้าขอสินเชื่อเข้ามาเฉลี่ย 1-2 หมื่นรายต่อวัน

โดยปัจจุบัน “LINE BK” มีบริการวงเงินให้ยืม (digital lending) ภายใต้แคมเปญ “ยืม LINE ง่ายกว่า” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ทำให้มีความต้องการสินเชื่อเข้ามาค่อนข้างมาก โดยมีลูกค้าสมัครขอวงเงินสินเชื่อกว่า 4 ล้านราย และมียอดการอนุมัติอยู่ที่ 3.5 แสนบัญชี ยอดเบิกใช้วงเงินอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท และเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็ได้ขยายบริการปล่อยกู้ภายใต้ใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 33% ต่อปี

“เอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร” ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นตลาดที่มีความต้องการและขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยแต่ละปีจะขยายตัวในอัตรา 2 หลักหรือมากกว่า 10% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้คนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางขาดสภาพคล่อง และมีความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนมากขึ้น

โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 21-25% ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามากเมื่อเทียบดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่ค่อนข้างสูงกว่า 35% ต่อปี

“สถาบันการเงินหันมาแข่งขันในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรกดเงินสดมากขึ้น เนื่องจากตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตค่อนข้างอิ่มตัว และใช้ต้นทุนการตลาดค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ให้ส่วนต่างอัตราผลกำไรสูงเป็น high margin product แม้จะมีความเสี่ยงมากกว่าบัตรเครดิต แต่ถ้าบริหารจัดการดีจะสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น” นายเอกสิทธิ์กล่าว

นับได้ว่าเป็นสมรภูมิที่คึกคัก แรงดีไม่มีตกเลยจริง ๆ