ธุรกิจอ่วม “ต้นทุนประกัน” ขยับ “โรค-ภัยธรรมชาติ” ดันเบี้ยพุ่ง

แฟ้มภาพประกอบข่าว

ต้นทุนประกันภัยต่อพุ่ง 10-20% เอฟเฟ็กต์ “โรคระบาด-ภัยธรรมชาติ” ส่อกระทบธุรกิจ “อสังหาฯ-เมกะโปรเจ็กต์” หนักสุดถูกชาร์จเบี้ยขึ้นตาม “ไทยรีฯ” ประเมินธุรกิจประกันเผชิญภาวะ “hard market” ลากยาว 2-3 ปี

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มเบี้ยประกันภัยจะขยับสูงขึ้นเนื่องจากปัจจุบันธุรกิจประกันภัยถูกดิสรัปต์จากภัยโรคระบาดและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งนับวันจะมีความถี่และสร้างความเสียหายที่รุนแรงขึ้น

ตามรายงานของ Munich Re ระบุว่า ในปี 2563 ความสูญเสียโดยรวมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.66 แสนล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า และพบว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นกว่า 980 เหตุการณ์ มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 8,200 คน ส่งผลให้มีค่าสินไหมทดแทน (เคลมประกัน) มูลค่ารวม 82,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่ายอดเคลมประกันในปีก่อนหน้าที่มียอดอยู่แค่ 57,000 ล้านดอลลาร์ อย่างมีนัยสำคัญ

“เอฟเฟ็กต์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยทั่วโลกแพงขึ้น นั่นหมายความว่าบรรดาบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ (รีอินชัวเรอร์) จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบเป็นโดมิโนมายังบริษัทประกันภัยของไทยต้องชาร์จเบี้ยรับโดยตรงจากประชาชนสูงขึ้นด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนสถานการณ์ความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในไทยปี 2564 นี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นประเมินความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรมากกว่า 2.5 ล้านไร่ แต่มูลค่ายอดเคลมประกันภัย อาทิ ข้าวนาปี, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คงต้องรอให้ระดับน้ำลดลงก่อน ขณะเดียวกันมรสุมยังไม่หมด แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความรุนแรงจะน้อยกว่าปี 2554

ด้านนายฉัตรชัย พยาฆรินทกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว เบี้ยประกันมีสัญญาณปรับขึ้นทุกปี เพียงแต่ด้วยภาวะการแข่งขันที่สูง ทำให้ราคาเบี้ยถูกกดลงต่ำ หรืออยู่ในภาวะตลาดอ่อนตัว (soft market) ในบางช่วง แต่นับตั้งแต่ช่วงปี 2563 มา เริ่มเข้าสู่ภาวะตลาดแข็งตัว (hard market) หลังจากภาคธุรกิจประกันภัยทั่วโลกได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 และภัยพิบัติใหญ่ในอเมริกาและยุโรป ส่งผลต่อเงินกองทุนที่ปรับตัวลดลงมาก จึงจำเป็นต้องหาทางดึงเม็ดเงินกลับเข้ามา

“เมื่อก่อนเราจะมีเงินเข้าสู่ระบบง่าย ๆ จากมาตรการของสหรัฐในการอัดฉีดเงินสภาพคล่อง และบรรดาเฮดจ์ฟันด์เข้ามาลงทุนในธุรกิจประกันค่อนข้างมากผ่านกองทุนต่าง ๆ ของโลก อาทิ กองทุนภัยพิบัติ เป็นต้น เพื่อหาผลตอบแทนที่สูง แต่พอซัพพลายตรงนี้หายไปจากภัยที่เกิดขึ้น ขณะที่ดีมานด์ยังสูงอยู่ ทำให้เกิดภาวะ hard market ขึ้นตามกลไกตลาด ดังนั้นเชื่อว่าในช่วง 2-3 ปีจากนี้ ภาวะตลาดแข็งตัวจะยังคงรุนแรง จนกว่าจะเห็นสัญญาณเคลมความเสียหายลดลง” นายฉัตรชัยกล่าว

โดยเบื้องต้นจากการหารือร่วมกับบรรดากองทุนในสหรัฐช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนพบว่า เฉพาะธุรกิจประกันในอเมริกามีการชาร์จค่าเบี้ยประกันขึ้นไปแล้วเกือบ 20% ในช่วงปี 2564 ขณะที่ในยุโรปเพิ่มขึ้นกว่า 15% ซึ่งปีหน้ายังเป็นเทรนด์นี้อยู่

ส่วนในเอเชียรวมไปถึงไทยคาดว่าค่าเบี้ยประกันจะปรับขึ้นระหว่าง 10-15% ขึ้นอยู่ในแต่ละประเทศ แต่เนื่องด้วยทวีปเอเชียยังไม่มีภัยพิบัติใหญ่เหมือนในอเมริกาและยุโรป ขณะที่ผลกระทบโควิดในไทยเองไม่ได้คุ้มครองกรณีธุรกิจหยุดชะงัก จะเป็นลักษณะคุ้มครองสุขภาพ ดังนั้นผลกระทบจึงน้อยกว่า


“เมืองไทยยังคงมีผลกระทบในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ที่ต้นทุนจากประกันภัยต่อในต่างประเทศที่ปรับราคาเบี้ยขึ้นกว่า 10-15% ซึ่งบริษัทประกันในไทยยังไม่สามารถรับความเสี่ยงไว้เองได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนงานประกันภัยทางทะเลขนส่งและงานประกันภัยวิศวกรรมแม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่จะถูกชาร์จเบี้ยขึ้นตามไปด้วยจากต้นทุนประกันภัยต่อที่แพงขึ้น ส่วนจะลดภาระผู้เอาประกันคนไทยได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับการต่อรองบางที่งานไซซ์ใหญ่ ก็ต้องรักษาลูกค้าไว้ อาจจะบาลานซ์ขึ้นเบี้ยงานทีละประเภท แต่ยังไงเบี้ยถูกชาร์จแพงขึ้นแน่ ๆ” นายฉัตรชัยกล่าว