33 รัฐวิสาหกิจผนึกกำลัง ปลดแอก พ.ร.บ.จัดซื้อ-จ้าง

33 รัฐวิสาหกิจป่วนหลัง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ทำการดำเนินธุรกิจของบริษัทลูกชะงัก เตรียมร่อนหนังสือถึงคลังขอยกเว้นบังคับใช้กฎหมาย กฟผ.ชี้ กระทบทั้งเชิงพาณิชย์-นวัตกรรม การรถไฟฯ หวั่นงาน 2 บริษัทลูกไม่คล่องตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ 55 แห่ง หรือ SOE CEO Forum ซึ่งจัดขึ้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้เน้นย้ำให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2561 และขับเคลื่อนผลักดันนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น สร้างความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว

โดยรัฐวิสาหกิจขานรับนโยบาย สนับสนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แต่หลายหน่วยงานแสดงความกังวลและสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจในเชิงพาณิชย์ที่ต้องการความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ

เข็นแบงก์รัฐลงท้องถิ่นชุมชน

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐวิสาหกิจสามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติได้มากกว่าการเร่งรัดเบิกจ่าย ซึ่งปีที่ผ่านมาทำได้ดีมาก อยากให้ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน ทั้งนี้ ปี 2561 จะผลักดันธนาคารของรัฐเข้าไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น รวมถึงเอสเอ็มอีในท้องถิ่น ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้ากัน และจะยกระดับจัดตั้งสำนักงานกลางขึ้นมาเชื่อมโยงการปฏิบัติ โดยหน่วยงานที่ตั้งขึ้นจะดูข้อมูลว่าเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ต้องส่งไปธนาคารออมสิน กลุ่มนี้ต้องส่งไปเอสเอ็มอีแบงก์ หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

ดึง รสก.จับคู่จังหวัดช่วยคนจน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ไม่อยากให้รัฐวิสาหกิจมองว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯฉบับใหม่เป็นอุปสรรค เนื่องจากออกมาเป็นเกราะป้องกันรัฐวิสาหกิจ เวลาที่ถูกการเมืองสั่งให้จัดซื้อจัดจ้างแบบไม่ถูกต้อง จะได้มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ยึด ทุกรัฐวิสาหกิจจึงต้องเร่งปรับปรุงกฎระเบียบของตัวเองให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ

“กฎระเบียบที่ทำไว้จะได้ป้องกันท่านมีบางคนบอกว่าทำให้ทำงานลำบาก แต่ผมว่าถ้าไม่มีกฎเกณฑ์พวกนี้ ต่อไปท่านจะลำบากกว่านี้”

เร่งงบฯลงทุน 5 แสนล้าน

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า วันที่ 29 พ.ย.นี้ นายสมคิดจะประชุมเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ 55 แห่ง ประจำปี 2561 วงเงินทั้งสิ้น 500,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีวงเงิน 344,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายสมคิดได้เร่งรัดเบิกจ่าย งบฯลงทุนตั้งแต่ต้นปี โดยจะกำหนดเป้าหมายเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 95% และจะกำชับให้รัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

แจงปม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะโฆษก สคร. กล่าวว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯใหม่ที่บังคับใช้ ครอบคลุมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ กรณีจัดซื้อจัดจ้างในทางธุรกิจมีข้อยกเว้นให้แต่ละหน่วยงานกำหนดวิธีจัดซื้อจัดจ้างของตัวเอง

ส่วนนายสุธารักษ์ ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจ สคร. ชี้แจงว่า การยกร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯฉบับใหม่ เพื่อสร้างความโปร่งใส ซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องไปปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้อง จริง ๆ แล้วกระบวนการตาม พ.ร.บ.ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพียงแต่ช่วงแรกแต่ละหน่วยงานอาจต้องใช้เวลาปรับตัว ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างชะงักไปบ้าง ตอนนี้เรื่องที่ว่าบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจจะขอยกเว้น ไม่เข้า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ยังไม่มีส่งมาแต่ตามหลักการแล้วไม่มีเหตุผล เพราะกฎหมายออกมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใสให้แก่หน่วยงาน

ทั้งนี้ สคร.ประเมินว่า ในไตรมาสสุดท้ายปี 2560 หรือไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2561 นี้ รัฐวิสาหกิจจะมีการเบิกจ่ายงบฯลงทุนเข้าระบบราว 80,000 ล้านบาท

บริษัทลูก 30 รสก.ขอยกเว้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา ได้มีการหารือในประเด็น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯใหม่ ที่ส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ เนื่องจากความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ที่สำคัญไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ คณะกรรมการจึงได้แยกหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1) รัฐวิสาหกิจที่ปฏิบัติภายใต้พระราชบัญญัตินี้ รวม 29 หน่วยงาน ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯทันที

2) รัฐวิสาหกิจที่มีธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง กลุ่มนี้ได้แสดงเจตจำนงขอ “ไม่อยู่” ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว

โดยเฉพาะบริษัทด้านพลังงาน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กฟผ. และบริษัทในเครือ กฟผ. และให้จัดทำกรอบปฏิบัติของตนเอง และเสนอมายังคณะกรรมการภายใน 180 วันเพื่อพิจารณาอนุมัติ

โดยกรอบระเบียบดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหลักการมาตรา 8 พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างฯ ใน 4 ประเด็นหลัก 1) ความคุ้มค่า ต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์การใช้งาน มีราคาที่เหมาะสม และมีแผนการบริหารพัสดุที่เหมาะสมและชัดเจน 2) โปร่งใส คือ กระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ฯลฯ 3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ มีการวางแผนจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุล่วงหน้า และเพื่อให้มีการบริหารพัสดุเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีกำหนดเวลาที่เหมาะสม และมีการประเมินและเปิดเผยผลสัมฤทธิ์ของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ 4) ตรวจสอบได้

“ขณะนี้เริ่มมีรัฐวิสาหกิจทยอยยื่นรายละเอียดกรอบจัดซื้อจัดจ้างของแต่ละหน่วยงานเข้ามาแล้ว เช่น บริษัท ปตท.”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่ไม่ขออยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งหมด 33 ราย นอกเหนือจากบริษัทด้านพลังงาน มี บมจ.อสมท. บจ.ไทยสมายล์แอร์เวย์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เป็นต้น

กคช.-ธอส.ชี้กระทบแค่ช่วงแรก

ส่วนนายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า พ ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ อาจกระทบกับการจัดซื้อจัดจ้างของ กคช.บ้างในระยะแรก ทั้งในส่วนบัญชีรายชื่อผู้รับเหมา ที่ต้องได้รับการรับรองจากกรมบัญชีกลางใหม่ ขณะที่วิธีปฏิบัติระหว่างระบบอีออกชั่นเดิม กับอีบิดดิ้งที่ใช้ใหม่ ก็แตกต่างกัน

บริษัทลูก กฟผ.-รถไฟขอยกเว้น

ด้านนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวว่า บริษัทในเครือ กฟผ. 2 แห่ง คือ บริษัท EGAT International และบริษัท DCAP จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ใหม่ รวมถึงตัว กฟผ.ด้วย ขณะนี้กำลังรวบรวมรายละเอียดเพื่อเสนอว่าจะขอยกเว้นในกรณีใดบ้าง

“ตอนนี้ได้รับผ่อนผันให้จัดซื้อจัดจ้างแบบเดิมไปก่อน แต่ กฟผ.ต้องขอยกเว้น ไม่ได้มีแต่เรื่องเชิงพาณิชย์ มีเรื่องนวัตกรรม และอื่น ๆ ด้วย และคิดว่าอีกหลายรัฐวิสาหกิจจะขอยกเว้นเช่นเดียวกัน”


นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนการจัดซื้อจัดจ้างของ ร.ฟ.ท.เอง ไม่มีปัญหาแล้ว แต่กำลังพิจารณาว่า ที่จะตั้งบริษัทลูก 2 บริษัทหลังจากนี้ คือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ร.ฟ.ท. และบริษัทเดินรถสายสีแดง อาจต้องขอยกเว้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัว