ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐชะลอตัว

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐชะลอตัว ขณะที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าในรอบ 1 เดือนหลังนายกฯประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/10) ที่ระดับ 33.20/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/10) ที่ระดับ 33.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงสู่ระดับ 1.548% เมื่อคืนนี้ จากระดับ 1.579% ของวันอังคาร ซึ่งอัตราผลตอแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ริโภค ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ย.เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ส่วนเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 5.4% ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.3%

สำหรับรายงานการประชุมประจำเดือน ก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งนักลงทุนจับตาอย่างใกล้ชิดนั้น ระบุว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องที่จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงกลางเดือน พ.ย. หรือกลางเดือน ธ.ค.ปีนี้

ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าในรอบ 1 เดือน โดยช่วงนี้เงินบาทกลับมาแข็งค่าค่อนข้างมาก หลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศเรื่องการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. ประกอบกับดอลลาร์สหรัฐ ถูกขายทำกำไร

ส่วนการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ น่าจะมาจากทิศทางของ flow เป็นหลัก โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.15-33.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/10) ที่ระดับ 1.1595/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/10) ที่ระดับ 1.1559/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรฟื้นตัวขึ้น จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังถูกกดดันหลังจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจขอเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 22.3 ในเดือน ต.ค. จาก 26.5 ในเดือน ก.ย. โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวลงแตะที่ 24.0

ซึ่งนายอาคิม แวมบาค ประธานสถาบัน ZEW กล่าวว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1586-1.1624 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1621/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/10) ที่ระดับ 113.44/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/10) ที่ระดับ 113.34/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะกรอบกลาง 113 เยน เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการคาดการณ์ที่ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหอยู่ในกรอบระหว่าง 113.20-113.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ จำนวนคนยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (14/10), รายงานการประชุมเฟด (14/10), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐในเดือนกันยายน (14/10) และ ดัชนียอดขายปลีกของสหรัฐในเดือนสิงหาคม (15/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.80/+0.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.40/+3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ