สมรภูมิหุ้นทีวีบันเทิงส่อระอุ “ONEE” ขายไอพีโอต้น พ.ย.นี้

จับตาหุ้นทีวีสื่อบันเทิงแข่งเดือด หลัง “ช่องวัน” จ่อเข้าเทรดตลาดหลักทรัพย์ฯเทียบฟอร์ม 3 ค่าย “WORK-ONEE-BEC” โบรกฯ “KTBST” ชี้ต้องวัดกันที่คอนเทนต์ คาด “ONEE” ลุยขยายลงทุนผลิตรายการ-สร้างสตูดิโอใหม่ปั้นรายได้ ขณะที่ “บอย ถกลเกียรติ” กำหนดขายไอพีโอต้นเดือน พ.ย.64 กางแผนนำเงินลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิตรายการปั้นคอนเทนต์ ปักธงรายได้โตเฉลี่ย 10% ใน 3-5 ปีข้างหน้า เล็งลดสัดส่วนรายได้โฆษณาในทีวี หันเพิ่มรายได้ช่องทางออนไลน์-เจาะตลาดต่างประเทศ

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของผู้ประกอบการธุรกิจสื่อบันเทิงชั้นนำของประเทศไทย จุดเด่นคือช่วยลดข้อจำกัดด้านการเงินลงไปได้จากสภาพปัจจุบันที่มีปัญหาการเงิน แต่ถ้าวัดการแข่งขันจากเรตติ้งผู้ชมคงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพคอนเทนต์ของแต่ละช่อง ล่าสุดบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE ที่เตรียมเข้าจดทะเบียน ที่ผ่านมาทาง บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ปรับลดสัดส่วนถือหุ้นลงไปมาก ดังนั้น การระดมทุนครั้งนี้น่าจะทำให้ ONEE มีศักยภาพในการลงทุนมากขึ้น

“จะมีความคล้ายคลึงกับช่วงที่บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น จากช่องทีวีดาวเทียมก็สามารถนำเงินระดมทุนสร้างสตูดิโอที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่ง ONEE ปัจจุบันที่มีสตูดิโอหลัก (Acts Studio) คงจะมีแผนสร้างสตูดิโอที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถผลิตคอนเทนต์ฟอร์มใหญ่คุณภาพดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มเรตติ้งได้บ้าง โดยจุดแข็งของ ONEE คือ มีศิลปินนักร้องจำนวนมากที่ปั้นคอนเทนต์ละครและเพลง ช่วยสร้างรายได้อีกมาก”

อย่างไรก็ดี ปัญหาธุรกิจสื่อบันเทิงไทยในปัจจุบันจะมีด้วยกัน 2 ส่วนคือ 1.คอนเทนต์ส่วนใหญ่เจ้าของรายการไม่ใช่เจ้าของช่อง ยกเว้น ONEE และ WORK เพราะฉะนั้น ปัจจัยตรงนี้อาจจะไม่ค่อยมีความเสี่ยงเรื่องพาร์ตเนอร์หนีหาย ซึ่งที่่ผ่านมาช่องที่มีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุดคือ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC

และ 2.ปัจจุบันช่องทีวียังมีอยู่หลายช่อง แม้จะเจ๊งไปมากก็ตาม จากความนิยมของคนดูทีวีลดลงไปมาก ดังนั้น กลุ่มคนดูทีวีจะเริ่มแคบขึ้นจึงเป็นอุปสรรคสำคัญของธุรกิจสื่อทีวีในอนาคต ทำให้อัตราการเติบโตทำได้ยากขึ้นเพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจและเอเยนซี่โฆษณามีทางเลือกในการซื้อโฆษณาจากช่องทางอื่นได้มากขึ้น

“การโตของธุรกิจสื่อทีวีคือ การแย่งมาร์เก็ตแชร์ซึ่งต้องสู้กันที่คอนเทนต์ โดยธุรกิจสื่อทีวีในวันนี้คนที่อยู่รอดได้เชื่อว่าผ่านจุดวิกฤตไปหมดแล้ว โอกาสจะกลับมาเจ๊งคงยาก ปัจจุบันน่าจะมีอยู่ประมาณกว่า 10 ช่อง นอกนั้นเป็นทีวีประเภทโฆษณาแฝง” นายมงคลกล่าว

นายถกลเกรียติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE กล่าวว่า การระดมทุนครั้งนี้จะช่วยให้ ONEE สามารถเพิ่มศักยภาพในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนานักแสดงหน้าใหม่มากฝีมือเข้าสู่วงการบันเทิง ยกระดับคุณภาพของคอนเทนต์ไทยสู่ระดับสากล และเพิ่มขีดความสามารถในการนำคอนเทนต์ไปสู่ผู้ชมในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ ONEE ขยายฐานผู้ชมได้ในทุกช่องทาง และส่งเสริมให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำที่เชื่อมโลกการรับชมทุกแพลตฟอร์ม

โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโตต่อเนื่องปีละ 10% ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ขณะที่โครงสร้างสัดส่วนรายได้ของแต่ละช่องทางจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยสัดส่วนรายได้จากช่องโทรทัศน์จะลดลงมา 40-45% จากเดิมที่อยู่ระดับ 48%, ช่องทางออนไลน์เพิ่มเป็น 25-28% จากเดิม 21%, ช่องทางตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 7-10% จากเดิม 5% และธุรกิจอื่น ๆ เช่น วิทยุ, อีเวนต์ บริหารศิลปินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องลดลงเป็น 12-25% จากเดิม 27%

ส่วนแนวโน้มธุรกิจปีนี้คาดว่าผลประกอบการจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้รายได้ในช่วงไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบล็อกดาวน์ช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เม็ดเงินโฆษณาหายไปและไม่สามารถถ่ายทำรายการได้ แต่บริษัทยังรักษาการเติบโตของกำไรได้พร้อมคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้น

“เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้บริษัทจะนำไปใช้ลงทุนพัฒนาศักยภาพในการผลิตรายการประมาณ 500 ล้านบาท ภายในปี 2567 โดยจะใช้ลงทุนพัฒนาขีดความสามารถของระบบสารสนเทศประมาณ 130 ล้านบาทในปี 2566 และใช้ปรับโครงสร้างเงินทุนจากการเข้าซื้อกิจการกลุ่ม (GMMCH) ประมาณ 2,200 ล้านบาท ภายหลังไอพีโอช่วงต้นเดือน พ.ย. 2564 ส่วนที่เหลือ 613-1,078 ล้านบาทใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ” นายถกลเกียรติกล่าว