กนง.จับตาเอสเอ็มอีสู้ไม่ไหวเสี่ยงหนี้เสียพุ่ง

กนง.เกาะติดเอ็นพีแอลกลุ่มเอสเอ็มอีทะยาน ชี้อาจใช้เวลาเกิน 2 ไตรมาสกว่าจะลดลง ผลพวงปรับตัวแข่งขันไม่ได้ในภาวะเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นมามีสัดส่วนอยู่ที่ 4.35% ของสินเชื่อรวม ในไตรมาสแรกปี 2560 แม้จะยังเป็นระดับที่ไม่สูง แต่ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ติดตามอยู่ เนื่องจากหนี้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นก็จะมีเรื่องของความสามารถในการแข่งขันที่กลุ่มเอสเอ็มอีบางส่วนยังปรับตัวไม่ได้ ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพ

“ตอนนี้คงไม่มีใครกล้าฟันธงว่า NPL ของเอสเอ็มอีจะหยุดหรือลดลงเมื่อไหร่ เพราะถ้ามีประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันเข้ามา โดยหากเป็นแค่ปัจจัยตามวัฏจักร ระยะเวลา 2 ไตรมาส ก็น่าจะเห็น NPL ลดลงได้แล้ว แต่ถ้ามีเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้วย ก็อาจใช้เวลามากกว่า 2 ไตรมาสกว่าที่ NPL จะกลับทิศ กนง.ไม่ได้ให้จับตาส่วนไหนพิเศษ ซึ่งแง่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจจะยังไม่ทั่วถึง” นายจาตุรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม NPL ของเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของสถาบันการเงิน เพราะระดับเงินกองทุนและเงินสำรองยังรองรับได้ แต่ กนง.ก็ขอให้ติดตามให้ครอบคลุมมากขึ้นในส่วนที่ไม่เคยนำเข้ามาประเมิน

ทั้งนี้ หนี้ NPL ของธุรกิจเอสเอ็มอีเริ่มมีทิศทางสูงขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2558 ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวในระดับต่ำ จากก่อนหน้านั้นที่อยู่ระดับต่ำกว่า 4% และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกระทั่งอยู่ที่ 4.35% ในไตรมาสแรกปีนี้