ธปท. จับตา 3 ปัจจัย ฟื้น-ฉุดเศรษฐกิจไทยปี65

เงินบาท-เศรษฐกิจไทย

ธปท.เผยแม้เศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุดไตรมาสที่ 3 แต่ยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำ พร้อมเกาะติด 3 ปัจจัยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการคุมระบาดในประเทศ-แรงสนับสนุนจากภาครัฐ-ปัจจัยต่างประเทศ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง คนว่างงาน-เสมือนว่างงานพุ่ง 3.4 ล้านคน มั่นใจจีดีพีปีนี้ยังโตได้ 0.7% และขยายตัว 3.7% ในปี 65 ตามอุปสงค์ภายในประเทศ ลั่น ยังไม่รวมปัจจัยการเลือกตั้ง พร้อมทบทวนในการประชุมกนง.ต่อไป

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2564 ว่า แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยคาดว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 0.7% และในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.7% ตามแรงส่งอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญผ่านการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี การเติบโตดังกล่าวคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่ได้รวมปัจจัยการเลืออกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีหรือต้นปี 2566 ซึ่งกนง.จะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงด้านต่ำ แม้ว่าจะดีขึ้น ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวจำเป็นต้องติดตามใน 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดระบาด ซึ่งการเปิดเมืองมากขึ้นยังคงจำเป็นต้องติดตามความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง 2.ความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ โดยจะเห็นว่าอัตราการใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าคาดในปีนี้ แต่ในปี 2565 น่าจะมีแรงกระตุ้นต่อเนื่องจากเม็ดเงินคงเหลือของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้วงเงิน 5 แสนล้านบาท น่าจะเป็นแรงสนับสนุนได้

และ 3.ปัจจัยต่างประเทศ ในส่วนของ Travel restriction โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มปรับลดลงจากการะบาดของโควิด-19 ที่ทำให้แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวล่าช้า โดยปีนี้คาดว่าจะเหลือ 1.5 แสนคน จากเดิมอยู่ที่ 7 แสนคน และในปี 2565 จาก 10 ล้านคน เหลือ 6 ล้านคน ส่วนหนึ่งมาจากคาดว่ายังไม่สามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ได้ปกติภายในปี 2565 รวมถึงปัญหา Supply Disruption การขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงผลกระทบชั่วคราวจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ทั้งในการปิดโรงงานและขาดแคลนแรงงาน

ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยมีผู้เข้าลงทะเบียนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง) ปัจจุบันมีตัวเลขสูงถึง 3.4 ล้านคน ส่งผลให้เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ เนื่องจากแรงงานมีรายได้ที่ลดลง ซึ่งกดดันรายได้ครัวเรือนและการบริโภคปรับลดลง รวมถึงตัวเลขแรงงานย้ายถิ่นปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

“เราคาดว่าไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจบอททอมเอ้าท์แล้ว แต่ความเสี่ยงในระยะข้างหน้ายังเบ้ด้านต่ำ เราจึงต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยในปี 65 เราเห็นแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากโดเมทติกส์ดีมานด์ การบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวจากวัคซีนและมาตรการคุมการระบาดทยอยหมดไปในไตรมาสที่ 1/65”