“สมชัย” อดีตปลัดคลัง แนะ สศค. 5 แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

“สมชัย” อดีตปลัดคลัง แนะ สศค. 5 แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ ควรเพิ่มบทบาทกองทุนหมู่บ้าน ด้าน ธปท.ควรปรับนโยบาย หนุนประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน-ความยากจนซ้ำซาก พร้อมสร้างสมดุลรายได้ของประเทศ

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเสวนาวิชาการ เรื่อง “เพิ่มมุมคิด เติมมุมมอง ก้าวข้ามวิกฤต COVID-19” ในงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปีที่ 60 โดยระบุว่า ยังมีความท้าทายอีกมากที่ภาครัฐ กระทรวงการคลัง และ สศค.ต้องเข้าใจ และหาทางแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นเรื่อง ๆ หรือแบบผักชีโรยหน้า โดย 5 สิ่งที่ควรทำ ได้แก่

1.การแก้ปัญหาคนตกงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้งอย่างมั่นคง โดยระบุ การแจกเงินไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่การจะยิงนก เมื่อกระสุนออกไป 1 นัดต้องได้นกกลับมา 2 ตัว ไม่ใช่ 1 ตัว พร้อมแนะให้มีการแบ่งโซนสีความรุนแรงของปัญหา ให้โอกาสท้องถิ่นเป็นผู้ออกมาตรการ มีการเชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ควรฟื้นบทบาทของ “กองทุนหมู่บ้าน” ให้มีส่วนร่วมในการเสนอโครงการและการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ

2.การแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือคนตัวเล็กกลับมาค้าขายได้เหมือนเดิมแบบนิวนอร์มอล ชี้นโยบายเสริมสภาพคล่องของกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ตาข่ายรูใหญ่ ทำให้คนตัวเล็กหลุดจากตาข่าย ทำให้ธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ บนเงื่อนไขที่ผ่อนปรนจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นพบว่าแบงก์พาณิชย์มีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งแบงก์พาณิชย์ควรเข้ามามีบทบาทช่วย แต่มีการอ้างกฎเกณฑ์ของ ธปท. จึงต้องย้อนไปดูที่ ธปท. ว่าการทำนโยบาย ทำบนเครื่องมือใหม่ ๆ ได้หรือไม่ ปรับนโยบายได้หรือไม่

“มองว่าที่ผ่านมา ธปท.ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการทำนโยบายน้อยมาก ดังนั้น นโยบายการเงินต้องปรับใหม่และนอกกรอบมากกว่านี้ เราเห็นปัญหาชัดเจน เราต้องยอมรับความจริง ขณะที่รัฐบาลไม่เคยทำผิดวินัยการเงินการคลัง เพราะเมื่อก่อหนี้เพิ่มและสุ่มเสี่ยงเกินเพดานหนี้สาธารณะ ก็ขยับเพดานหนี้ขึ้นเรื่อยๆ การทำแบบนี้ทำให้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหมดประสิทธิภาพ การจะขยายหนี้ต้องมีแผนรองรับการลดหนี้ที่ชัดเจน”

3.การแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนภาคประชาชนให้ลดลงเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการออกมาตรการปรับโครงสร้าง ต้องมีมาตรการเสริมออกมาควบคู่ พร้อมแนะใช้ AO แก้ปัญหาความยากจนแบบรายคน ให้คำปรึกษาและติดตามผล ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบได้ผล และต้องร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นและต้องใช้ทรัพยากรบุคคลทั้งหมดที่มีเข้าไปช่วยแก้ปัญหา

4.การแก้ปัญหาความยากจนซ้ำซาก ซึ่งวิกฤตโควิดนี้กระทบอย่างมากต่อกลุ่มคนจน พร้อมระบุว่า กระทรวงคลัง และ สศค. กำลังใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ใช่การใส่เงินเข้าไปแล้วจบ ซึ่งปรัชญาหลักของบัตรนี้มีขึ้นเพื่อทำให้คนถือบัตรลดลง ช่วยเปลี่ยนจากคนจนเป็นคนชั้นกลาง

“การเพิ่มจำนวนบัตรมากขึ้น ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ หากในช่วง 3 ปีตั้งแต่มีบัตรเกิดขึ้นในปี’60 และคนจนยังไม่ลดลง ต้องกลับมาแก้ที่ สศค. ต้องปรับเพิ่มมาตรการหรือนโยบายในการเข้าไปช่วยเหลือให้คนถือบัตรหลุดจากการเป็นคนจน ฝาก สศค.ให้ปรับวิธีการ เพราะที่ทำตอนนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของบัตร”

และ 5.การสร้างความสมดุลของรายได้ประเทศ โดยยังคงพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ แต่ต้องสร้างความสมดุลหรือความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจจากภายในประเทศด้วย เช่น ด้านเกษตรอาหาร ด้านสุขภาพการแพทย์ ด้านการท่องเที่ยวที่ปรับมาเป็นการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เป็นต้น


นอกจากนี้ อดีต ผอ.สศค. ยังได้เน้นย้ำเรื่องการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ โดยระบุว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเป็นปัญหาที่โครงสร้าง เพราะในช่วงเศรษฐกิจดี รัฐบาลก็จัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ดังนั้น จึงไม่ควรบอกว่า เมื่อเศรษฐกิจดีแล้วจะทำให้การจัดเก็บภาษีมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ใหม่