โอนเงินข้ามประเทศสะพัด แบงก์กางแผนขยายบริการ

ธุรกรรมโอนเงิน “พร้อมเพย์-เพย์นาว” ข้ามประเทศ “ไทย-สิงคโปร์” โตกระโดด “แบงก์กรุงเทพ” เตรียมต่อยอดขยายเพิ่มอีก 5 ประเทศภายในปี 2565 ฟาก “ไทยพาณิชย์” เดินหน้าจับมือพันธมิตรหนุนการชำระเงินรายย่อย เน้นเข้าถึงง่าย-ต้นทุนต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันทีระหว่างไทยและสิงคโปร์ (พร้อมเพย์-เพย์นาว) จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)พบว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในเดือน เม.ย. 2564 จนถึงเดือน ก.ค. 2564 มีมากกว่า 5 หมื่นรายการ มูลค่ามากกว่า 11 ล้านดอลลาร์ โดยมีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 215 ดอลลาร์ต่อรายการ

อย่างไรก็ดี สำหรับปริมาณและมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านคิวอาร์โค้ด (QR code) นั้นเนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมาระหว่างประเทศ จึงยังไม่มีข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวชัดเจน

ทั้งนี้ จำนวนผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ ณ เดือน มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 58.2 ล้านคน เติบโต 5.3% จากปีก่อน โดยธุรกรรมโอนเงินเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 24.3 ล้านรายการ เติบโตขึ้น 67.5% และคิดเป็นมูลค่า 8.82 หมื่นล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโต 56.8% โดยมูลค่าเฉลี่ยการโอนเงินอยู่ที่ 3,630 บาทต่อรายการ

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แบงก์กรุงเทพเป็น 1 ใน 4 ธนาคารของไทยที่เปิดให้บริการพร้อมเพย์-เพย์นาว โดยหลังจากเปิดให้บริการเมื่อเดือน เม.ย. ก็มีลูกค้าทยอยเข้ามาใช้บริการ ซึ่งแม้ว่าปริมาณธุรกรรมในเบื้องต้นจะยังไม่มากนัก แต่คาดว่าแนวโน้มการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ สะท้อนจากภาพรวมการโอนเงินต่างประเทศของแบงก์ทั้งระบบที่มีทิศทางเติบโตสูงขึ้น

ทั้งในแง่มูลค่าและปริมาณธุรกรรม โดยมูลค่าการโอนขยายตัวสูงถึง 36% และปริมาณธุรกรรมเติบโต 9-10% สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) และการใช้ดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการค้าขายข้ามพรมแดน จึงเป็นแรงหนุนให้การโอนเงินต่างประเทศขยายตัว

“นอกจากสิงคโปร์แล้ว ภายในปี 2565 เรามีแผนขยายการโอนเงินในรูปแบบพร้อมเพย์กับประเทศอื่น ๆ อีก 5 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับแผนนโยบายของ ธปท. ที่ต้องการเชื่อมต่อระบบการชำระเงิน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของระบบกลางการเชื่อมต่อแต่ละประเทศด้วย

โดยปีหน้าเราจะทยอยขึ้นระบบผ่านธนาคารกลางของแต่ละประเทศจากปีนี้ที่เราเชื่อมการชำระผ่านคิวอาร์โค้ดไปแล้วคือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีการชำระเงินข้ามประเทศผ่านระบบคิวอาร์โค้ดที่ร่วมมือกับยูเนี่ยนเพย์ผ่าน BeWallet ที่มีร้านค้าร่วมกว่า 16 ล้านร้านค้า” นางปรัศนีกล่าว

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การโอนเงินข้ามประเทศขยายตัวตามตลาด e-Commerce และ social commerceทำให้มีผู้เล่นเข้ามาดิสรัปชั่นการโอนเงินข้ามประเทศที่ง่ายและถูกลงซึ่งจะทำให้ธุรกรรมระหว่างประเทศบนออนไลน์แพลตฟอร์มทวีความสำคัญมากขึ้

น โดยเฉพาะลูกค้าในระดับภูมิภาค (regional)ที่ธนาคารให้ความสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานการโอนเงินข้ามประเทศ โดยให้ความร่วมมือกับ ธปท. ดำเนินตามแนวนโยบายการสร้างโครงข่าย switch to switch และพัฒนาบริการโอนเงินต่างประเทศกับพันธมิตรหลายราย ด้วยต้นทุนและราคาที่ถูกลง เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและการเติบโตของระบบการชำระเงินรายย่อย(retail payment)

“ความร่วมมือการโอนเงินระหว่างไทยและสิงคโปร์ผ่านพร้อมเพย์-เพย์นาว ปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จากเดิมที่มีการโอนเงินไปสิงคโปร์ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 2.5 หมื่นบาท ไม่ถึง 200 รายการต่อเดือนปัจจุบันเพิ่มเป็น 600 รายการต่อเดือน รวมถึงทำให้การโอนเงินไปสิงคโปร์ทุกแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่การรับโอนเงินจากสิงคโปร์ก็เติบโตก้าวกระโดด ธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 5 เท่าจากเดิมอยู่ที่ 1,200 รายการเป็น 6,000 รายการต่อเดือน สะท้อนว่าความสะดวกและราคาที่เหมาะสมมีผลต่อการทำธุรกรรมค่อนข้างมาก” นางสาวอรรัตน์กล่าว