ก.ล.ต. เฮียริ่ง ปรับเกณฑ์ลงทุน “กองทุนรวม” ภายใต้ บลจ. เดียวกัน

การลงทุน ก.ล.ต.
แฟ้มภาพ

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นถึง 18 พ.ย. 64 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในกองทุนรวม เปิดให้ลงทุนในกองทุนรวมอื่นภายใต้ บลจ.เดียวกันได้ รวมแล้วไม่เกิน 3 ชั้น เพิ่มประสิทธิภาพบริหารกองทุนรวม-เอื้อให้เกิดกลยุทธ์ลงทุนที่หลากหลาย-หวังประหยัดต้นทุน

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็น(Hearing) หลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์การลงทุนในกองทุนรวมภายใต้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เดียวกัน โดยเปิดให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในกองทุนรวมอื่นภายใต้ บลจ. เดียวกันได้ รวมแล้วไม่เกิน 3 ชั้น เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันตามแนวทางการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน (Regulatory Guillotine) และผู้ลงทุนยังคงได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม

“เนื่องจากธุรกิจจัดการลงทุน มีการพัฒนารูปแบบกองทุนรวมและการบริหารจัดการให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน ด้วยการจัดสรรสินทรัพย์ (asset allocation) ของกองทุนรวมผ่านการลงทุนในกองทุนรวมอื่นภายใต้ บลจ. เดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale)“

ก.ล.ต. จึงนำเสนอหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงให้กองทุนรวมสามารถลงทุนภายใต้ บลจ. เดียวกัน รวมแล้วไม่เกิน 3 ชั้น(การปรับปรุงให้กองทุนรวมสามารถลงทุนภายใต้ บลจ. เดียวกัน รวมแล้วไม่เกิน 3 ชั้น ตัวอย่าง เช่น กองทุนรวม ก. ลงทุนในกองทุนรวม ข. และกองทุนรวม ข. ลงทุนในกองทุนรวม ค. เป็นต้น)

ซึ่งเดิมกำหนดให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในกองทุนรวมอื่นภายใต้ บลจ. เดียวกันได้ 2 ชั้น ยกเว้นกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่สามารถลงทุนในกองทุนรวมอื่นภายใต้ บลจ. เดียวกันรวมแล้วไม่เกิน 3 ชั้น ได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนรวม และเอื้อให้เกิดการพัฒนารูปแบบหรือกลยุทธ์การลงทุนให้มีความหลากหลาย

ภายใต้หลักการที่เสนอให้มีการปรับปรุงดังกล่าว กองทุนรวมจะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลประกอบ การตัดสินใจลงทุนที่ถูกต้องครบถ้วน ได้แก่ ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน ห้ามใช้สิทธิออกเสียงในกองทุนรวมที่ถูกลงทุน และเปิดเผยข้อมูลในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน โดย ก.ล.ต. ได้มีการหารือร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ซึ่งได้เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวตามที่เสนอ


ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=758 ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564