หุ้นลีสซิ่งกำไรโตเด่น “HENG” เทรดวันแรกเหนือจอง

เช่าซื้อรถ

โบรกฯคาดการณ์กำไรหุ้น “ลีสซิ่ง-เช่าซื้อ”ปีนี้เพิ่มขึ้น 15% “บล.กสิกรฯ” เทียบฟอร์มผู้เล่นในตลาด หลัง “HENG” เข้าเทรดราคาหุ้นเปิดเหนือจอง 64% ชี้อยู่ในกลุ่มเทียบเคียง “SAK-AMANAH” เหตุพอร์ตจำนำทะเบียนยังน้อย จับตาคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อกระทบกำไร 20 ล้านบ.ต่อปี ส่วนระยะยาวจ่อรุกจำนำทะเบียนเขย่าบัลลังก์ “MTC-SAWAD”ฟาก “บล.เอเซีย พลัส” ชี้ปัจจัยท้าทายธุรกิจทั้ง “ภาวะเศรษฐกิจชะลอ-กฎหมายคุมเข้ม-ล็อกดาวน์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เฮงลิสซิ่งแอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ประเภทสินเชื่อจำนำทะเบียนและนายหน้าประกันภัยและประกันชีวิตรายใหญ่ในภาคเหนือ เข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นไทยวันแรก (19 ต.ค. 2564) เปิดตลาดที่ 3.20 บาท ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.25 บาท คิดเป็น 64.10% จากราคาเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่ 1.95 บาทต่อหุ้น

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า HENG ที่เข้ามาเทรด ถือเป็นคู่แข่งรายใหม่ในกลุ่มลีสซิ่ง โดยถ้าเทียบฟอร์มหุ้นเซ็กเตอร์เดียวกัน HENG ถือว่ามีความโดดเด่นจาก 4 ส่วนสำคัญ

คือ 1.ประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจที่มาจับมือร่วมกันทำงาน ซึ่งมีความถนัดแตกต่างกัน จะเสริมแกร่งความเชี่ยวชาญในหลักประกันหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นความถนัดด้านรถมือสอง, รถกระบะ, รถมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

2.โมเดลการขยายธุรกิจ นอกจากขยายสาขาเพื่อหาลูกค้าเหมือนบริษัทอื่นแล้ว ยังมีช่องทางคอนเน็กชั่นกลุ่มเต็นท์รถมือสอง ที่คอยส่งรถและลูกค้าให้กับบริษัท ซึ่งเป็นช่องทางที่บริษัทอื่นยังไม่เห็นมีใครทำชัดเจน

3.อัตราการทำกำไร น่าจะเติบโตในระดับ 28% ต่อปี แต่อาจจะเพราะยังไซซ์เล็กจึงโตจากฐานต่ำกว่าได้

4.ลักษณะพอร์ตธุรกิจไม่เหมือน บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC)และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) โดยสัดส่วนประมาณ 67% มาจากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์มือสอง ในขณะที่ธุรกิจจำนำทะเบียนมีสัดส่วนที่ 26-27% ของพอร์ตรวม ซึ่งกำลังเร่งขยายเพิ่ม

“เทียบฟอร์มแล้ว HENG จะใกล้เคียงบมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) และ บมจ.อะมานะฮ์ลิสซิ่ง (AMANAH) โดย SAK จะเชี่ยวชาญโซนภาคเหนือตอนล่าง แต่ HENG จะเชี่ยวชาญโซนภาคเหนือตอนบน แต่มีพอร์ตสินเชื่อใกล้เคียงกันประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทแต่สัดส่วนธุรกิจแตกต่างกัน ทั้งนี้ สำหรับ SAK จะเป็นธุรกิจจำนำทะเบียน 100% ส่วน AMANAH ลักษณะธุรกิจจำนำทะเบียนลักษณะเช่าซื้อ (โอนเล่ม) มีความคล้าย HENG มากกว่า แต่ต่างกันตรงทำเลที่เน้นทำธุรกิจอยู่ในภาคใต้”

นายกรกชกล่าวว่า ประเมินกำไร HENG ปี 2564 อยู่ที่ 323 ล้านบาท ขณะที่กำไรกลุ่มหุ้นลีสซิ่ง คาดการณ์จะอยู่ที่ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงกรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ระบุในสัญญาได้ไม่เกิน 15% ต่อปี

คาดว่าจะกระทบต่อกำไรปี 2565 ของ HENG ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบัน HENG มีสัดส่วนสินเชื่อรถจักรยานยนต์ราว 3% และพอร์ตรถยนต์มือสองที่เก็บดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 15% ต้น ๆ น่าจะต้องปรับดอกเบี้ยลดลงมาเล็กน้อย

ขณะที่นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า คาดการณ์กำไรหุ้นลีสซิ่ง จำนวน 8 บริษัท ในตลาดหุ้นไทย (ไม่รวม HENG) ช่วงสิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 24,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%

เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 19% มาอยู่ที่ 29,287 ล้านบาท โดยประเมินการแข่งขันธุรกิจจำนำทะเบียนผ่อนคลายมากขึ้น เพราะว่า MTC จากเดิมที่เคยปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนลงเหลือ 15% ต่อปี

สำหรับรถจักรยานยนต์ ก็ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาเป็น 16% ไม่เน้นแข่งแล้ว ทำให้ความรุนแรงเริ่มลดลง เพราะมองว่าสินเชื่อยังมีความต้องการที่เติบโตมากขึ้น เพราะเมื่อเปิดเมืองจะเป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงปกติ ส่วนธุรกิจเช่าซื้อ เนื่องด้วยเป็นราคาตลาด การแข่งขันเป็นปกติไม่ได้รุนแรงมากกว่าเดิม


“ประเมินยอดสินเชื่อรวมของกลุ่มลีสซิ่งในสิ้นปี 2564 จะเติบโต 11.1% อยู่ที่ 3.8 แสนล้านบาท และในปี 2565 เติบโต 13.7% อยู่ที่ 4.3 แสนล้านบาท สำหรับความท้าทายของธุรกิจลีสซิ่งจะอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งทำให้อาจต้องตั้งสำรองหนี้มากขึ้น และกฎหมายการควบคุมของภาครัฐที่เข้มงวดขึ้น เช่น ปรับลดเพดานดอกเบี้ย รวมไปถึงมาตรการล็อกดาวน์ อาจทำให้ความต้องการใช้เงินลดลง” นายกรกชกล่าว