ดอลลาร์แกว่งตัวในกรอบแคบ ตลาดขาดปัจจัยชี้นำ

ดอลลาร์แกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดขาดปัจจัยชี้นำ ขณะที่ปัจจัยภายในนักลงทุนจับตาถึงความพร้อมในการเปิดประเทศ ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/10) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/10) ที่ระดับ 33.47/48 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ตามดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ เนื่องจากตลาดยังขาดปัจจัยชี้นำ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่มีการรายงานในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐปรับตัวลง 1.3% ในเดือนกันยายน

ทั้งนี้ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค การผลิตของภาคโรงงานลดลง 0.7% ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.1% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนสิงหาคม

ส่วนการผลิตในภาคเหมืองแร่ร่วงลง 2.3% และภาคสาธารณูปโภคดิ่งลง 3.6% ในขณะที่สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านบวก 4 จุด สู่ระดับ 80 ในเดือนตุลาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองโดยทั่วไปที่เป็นบวก โดยดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างปรับตัวขึ้นในเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ดีดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 85 ที่ทำไว้ในเดือนตุลาคม 2563 โดยถูกกดดันจากสต๊อกบ้านที่มีจำกัด การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาบ้าน และต้นทุนในการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างจับตารอดูท่าทีของเฟดในเรื่องของการปรับลดวงเงิน QE ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน พร้อมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในลำดับถัดไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศในส่วนของกระทรวงคมนาคมว่า ในวันนี้ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมต่าง ๆ โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาชัดเจนเรื่องฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 2 โดส

ในส่วนของคนไทยที่จะมีการเดินทางควรใช้มาตรฐานเดียวกับนักท่องเที่ยวหรือไม่ เช่น ควรฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 2 โดส ก่อนซื้อตั๋วเครื่องบิน รวมถึงการเดินทางด้วยรถไฟ รถบขส. หรือ ทางน้ำ เป็นต้น เพราะหากคนไทยไม่ใช่มาตรฐานเดียวกัน อาจจะเป็นความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาหรือไม่ โดยให้ปลัดกระทรวงคมนาคมหารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และนำเสนอต่อ ศบค.ต่อไป

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.31-33.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (19/10) ที่ระดับ 1.1633/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/10) ที่ระดับ 1.1581/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ โดยตลาดยังขาดปัจจัยชี้นำ

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดูการรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายนของยูโรโซนโดยจะมีการรายงานในวันพุธที่ 20 ตุลาคม โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1630-1.1662 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1658/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/10) ที่ระดับ 114.19/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/10) ที่ระดับ 114.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ตลาดยังคงจับตาการเลือกตั้งครั้งใหม่ของญี่ปุ่นโดยคาดการณ์ว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.94-114.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.09/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนกันยายน (19/10), อัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายนของยูโรโซน (20/10), ดัชนีการผลิตเดือนตุลาคมจากเฟดฟิลาเดลเฟียสหรัฐ และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (21/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนตุลาคมจากมาร์กิต ของฝรั่งเศส, เยอรมนี และยูโรโซน (22/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนตุลาคมจากมาร์กิต ของสหรัฐ (22/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.75/+1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.85/+2.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ