เทรนด์ลงทุนโค้งสุดท้าย ต่างชาติกลับเข้าหุ้นไทย หุ้นธีมรับเปิดประเทศเด่น

9]kfs6ho

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยประเมิน 2 เดือนสุดท้าย ฟันด์โฟลว์ทะลักเข้าหุ้นไทย หลัง 2 เดือนเข้ามาแล้ว 3 หมื่นล้าน คาดดันดัชนีตลาดหุ้นปีนี้ 1,650 จุด ปีหน้า 1,800 จุด โบรกฯเชียร์หุ้นธีม restart economy รับเปิดประเทศ-คลายล็อกธุรกิจ ทองคำ “โกลเบล็ก” แนะเก็งกำไรระยะสั้น รอปรับฐานหลังเฟดลดคิวอี

ต่างชาติกลับเข้าหุ้นไทย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้คาดว่า กระแสเงินลงทุนจากต่างชาติ (fund flow) น่าจะไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับมาต่อเนื่อง ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ที่ไหลออกไปกว่า 1 แสนล้านบาท จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี เป็นการสะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น ทั้งจากการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ทำได้กว่า 35% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ลดลง และแผนการเปิดประเทศที่ชัดเจน

“ช่วง 2 เดือนสุดท้าย คาดว่าฟันด์โฟลว์น่าจะยังไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เหตุผลสำคัญนอกเหนือจากภาวะโควิดคลี่คลาย คือ ทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่หลายฝ่ายมองว่าจะร้อนแรง จึงมีความเป็นไปได้ว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาไทย เพราะอัตราเงินเฟ้อของไทยคงไม่มีปัญหาเหมือนประเทศอื่น ๆ ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาก ขณะที่หลาย ๆ ประเทศนอกจากเจอปัญหาซัพพลายเชน ยังพบปัญหาเศรษฐกิจโตร้อนแรงมากในปีนี้ เช่น จีดีพีสหรัฐอเมริกาโต 6% แต่จีดีพีไทยปีนี้แทบจะไม่โต คาดการณ์โตแค่ 0.5-0.6% ยังต่ำมาก” นายไพบูลย์กล่าว

ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีความจำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องนโยบายการเงินขึ้น จึงน่าจะทำให้เงินต่างชาติไหลเข้ามา ประกอบกับตลาดหุ้นไทยถ้าประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index ช่วงก่อนโควิด (ปลายปี 2562) ที่อยู่บริเวณ 1,580 จุด ปัจจุบันอยู่ที่ 1,640 จุด ปรับตัวขึ้นมาแค่ 3% เท่านั้น ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศที่ฟื้นตัวไปแล้ว ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปกว่า 30-40% ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยยังมีอัพไซด์พอสมควร ขณะเดียวกัน ตลาดยังประเมินปี 2565 กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยจะโตประมาณ 12% ดังนั้น จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก โดยคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2564 ดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1,650 จุด และปี 2565 อยู่ที่ 1,800 จุด

ส่วนประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (QE tapering) นายไพบูลย์กล่าวว่า คงไม่มีผลกระทบมากเพราะตลาดสะท้อนข่าวไปแล้ว แต่ที่ต้องประเมินต่อไป คือ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากกว่า ว่าจะปรับขึ้นปลายปี 2565 เลยหรือไม่ และจะขึ้นเท่าใด ตลอดจนต้องดูด้วยว่าวงจรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้จะจบเมื่อใด รวมทั้งประเด็นเงินเฟ้อ หากไม่ลดลง มีโอกาสทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่านั้น ซึ่งอาจจะกระทบตลาดหุ้นไทยบ้าง แต่ด้วยสภาพคล่องที่ยังสูง ซึ่งไทยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม เพราะไม่ได้มีปัญหา

ฝรั่งซื้อสุทธิบอนด์ไทย 7 หมื่นล้าน

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (17 ต.ค. 2564) ตลาดตราสารหนี้ไทย ต่างชาติยังซื้อสุทธิที่ 68,200 ล้านบาท โดยเฉพาะในเดือน ต.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิอยู่ที่ 2,750 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ ต้องรอผลการประชุมเฟดก่อนว่า การชะลออัดฉีดสภาพคล่อง (QE tapering) จะทยอยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.นี้ ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้หรือไม่

แต่ถ้าเริ่มทยอยลด QE ตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นไปได้ว่าจะเห็นสัญญาณฟันด์โฟลว์ไหลออก แต่อาจจะไม่รุนแรงอย่างมีนัย เพราะเฟดส่งสัญญาณออกมาเป็นระยะ ๆ และตลาดรับรู้ข่าวไปตลอดทาง เพียงแต่ในช่วงจังหวะที่ยังไม่ได้เริ่มชะลอการอัดฉีดสภาพคล่อง ยังเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในหลายประเทศ แต่หากเฟดชะลอ QE จริงจัง คงต้องประเมินทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (bond yield) ด้วยว่าจะขยับขึ้นไปแค่ไหน รวมทั้งทิศทางอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราว ดังนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น กระแสเงินจะต้องไหลกลับไปฝั่งอเมริกา

“ตอนนี้อาจจะยังบอกอะไรได้ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของฟันด์โฟลว์ เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินในต่างประเทศค่อนข้างมาก” นางสาวอริยากล่าว

หุ้นเด่นธีม Restart Economy

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี แนะนำเป็นธีม restart economy เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้มากขึ้น หลังจากที่มีการคลายล็อกกิจกรรมในประเทศ โดยหุ้นเด่นในช่วงไตรมาส 4 ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ราคาเป้าหมายที่ 226 บาท, บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) ราคาเป้าหมายที่ 280 บาท, บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ราคาเป้าหมายที่ 61 บาท, ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ราคาเป้าหมายที่ 145 บาท, บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ราคาเป้าหมายที่ 65.5 บาท และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ราคาเป้าหมายที่ 55 บาท

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที กล่าวว่า หุ้นเด่นช่วงปลายปี แนะนำเป็น บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ราคาเป้าหมายที่ 72 บาท และ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ราคาเป้าหมายที่ 47 บาท โดยหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้อาจไม่ใช่หุ้นธีมเปิดเมือง แต่เป็นหุ้นที่ราคายังขึ้นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับหุ้นตัวหลัก ๆ ในตลาดที่ส่วนใหญ่ราคาปรับขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว

“การลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 4 อาจจะต้องมองหาหุ้นที่ปัจจุบันยังปรับตัวขึ้นไม่เยอะ และมีโอกาสปรับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ หุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ยังมีเรื่องของผลประกอบการ และแนวโน้มของธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนอีกด้วย”

ทองเก็งกำไรระยะสั้นรอปรับฐาน

ส่วนทิศทางของการลงทุนทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก กล่าวว่า การลงทุนทองคำในช่วงปลายปีนี้ยังสามารถเล่นเก็งกำไรระยะสั้นได้ แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวคงต้องรอ เพราะขณะนี้ยังมีประเด็นเรื่องการลดมาตรการคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยหากเฟดปรับลดคิวอีช่วงกลางเดือน พ.ย. หรือกลางเดือน ธ.ค. ก็น่าจะทำให้ซัพพลายของดอลลาร์ลดลง ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และจะเป็นประเด็นกดดันราคาทองคำ

“ตอนนี้เรามองแนวโน้มราคาทองคำที่ 1,700-1,850 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยช่วงก่อนที่เฟดจะลดคิวอี ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาไม่ดี ก็มีโอกาสขึ้นไปถึง 1,850 เหรียญ จากนั้นเมื่อมีการลดคิวอี ราคาทองก็มีโอกาสปรับลงมาที่ 1,700 เหรียญ ดังนั้น ปัจจัยในช่วงที่เหลือของปีนี้คือ เรื่องคิวอีเป็นหลัก ซึ่งคงต้องรอดูด้วยว่า พอตอบรับการลดคิวอีแล้ว ราคาจะลงไปสร้างฐานตรงไหน ถ้าเริ่มสร้างฐานได้ ก็อาจจะเชียร์เข้าทยอยซื้อได้ เพราะระยะยาวยัง underperform สินทรัพย์อื่นมาค่อนข้างนาน” นายณัฐวุฒิกล่าว