กำไรแบงก์สร่างไข้โควิด ลุ้น ธปท.ปลดล็อก LTV ปลุกสินเชื่อบ้านปลายปี

ตู้เอทีเอ็ม ATM ธนาคาร เศรษฐกิจ
อัพเดต 26 ต.ค. 64 เวลา 06.01 น.

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงจนต้องมีการล็อกดาวน์ ทว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็ถือว่าทำกำไรได้ดี

โดยจากการรวบรวมพบว่า แบงก์ 10 แห่งมีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3 รวมกันที่ 43,078 ล้านบาท แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) แต่ก็เพิ่มขึ้นถึง 46.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)

ภาพรวมกำไรแบงก์ฟื้นตัว

ส่วนงวด 9 เดือนแรก แบงก์มีกำไรรวมกัน 139,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.64% YOY หากเทียบกำไร 9 เดือนแรกของปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ขณะนั้นแบงก์มีกำไรรวมกันที่ 172,164 ล้านบาท ก็ถือได้ว่ากำไรแบงก์ที่ฟื้นตัวยังไม่กลับไปที่จุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด

โดยหากโฟกัสเฉพาะกลุ่ม 4 แบงก์ใหญ่พบว่า มีถึง 3 แบงก์ที่กำไรในไตรมาส 3 โตขึ้นเกิน 50% YOY คือ ธนาคารไทยพาณิชย์โต 90% ธนาคารกรุงเทพโต 71.99% และธนาคารกรุงไทยโต 65.36% ส่วนธนาคารกสิกรไทยแม้จะโตไม่ถึง 50% แต่ก็โตได้ 29.23%

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากำไรงวด 9 เดือนปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าแบงก์กสิกรไทยเป็นแบงก์ที่กำไรโตขึ้นมากสุดถึง 73.46% ขณะที่แบงก์กรุงเทพโตขึ้น 36.57% กรุงไทยโตขึ้น 25.35% และไทยพาณิชย์โตขึ้น 24.57%

ตั้งสำรองหนี้ฯลดลงจากปีก่อน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจะพบว่า ในไตรมาส 3 ปีนี้ แบงก์ตั้งสำรองรวมกันที่ 55,856 ล้านบาท ลดลงมากถึง 85.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่อยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ซึ่งพบว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน แบงก์ส่วนใหญ่จะตั้งสำรองลดลง

อาทิ กรุงไทยตั้งสำรองลดลง 34.45% YOY ไทยพาณิชย์ตั้งสำรองลดลง 22.54% ทีทีบีตั้งสำรองลดลง 19.47% แต่ก็มีแบงก์กรุงเทพที่ตั้งสำรองพุ่งขึ้นถึง 74.14% YOY ส่วนกสิกรไทยตั้งสำรองเพิ่มเล็กน้อย

เอ็นพีแอลทยอยขยับเพิ่มขึ้น

ส่วนแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น ในไตรมาส 3 พบว่า มูลค่าเอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ 555,932 ล้านบาท โดยเพิ่ม 0.96% QOQ แต่เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้น 6.24%

แบงก์ที่มูลค่าเอ็นพีแอลเพิ่มมากได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) จากไตรมาส 3 ปีก่อนอยู่ที่ 36,747 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 44,411 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 20.86% YOY ขณะที่ไทยพาณิชย์เพิ่ม 19.09% YOY จาก 89,909 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีก่อน มาเป็น 107,071 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีนี้

“กสิกรฯ-ทีทีบี” NIM เพิ่มขึ้น

ขณะที่อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ในไตรมาส 3ส่วนใหญ่จะลดลง ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อาทิ แบงก์กรุงเทพลดจาก 2.18% เหลือ 2.04% ไทยพาณิชย์ลดลง 3.12% เหลือ 3.02% กรุงศรีฯลดจาก3.34% เหลือ 3.2% กรุงไทยลดจาก 2.82% เหลือ 2.51% ส่วนกสิกรไทย NIM เพิ่มขึ้นจาก 3.17% เป็น 3.23% ทีทีบีเพิ่มจาก 2.92% เป็น 2.95%

กำไรแบงก์ผ่านจุดแย่ที่สุดแล้ว

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ผลประกอบการของระบบแบงก์น่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว สะท้อนผ่านตัวเลขการตั้งสำรองหนี้ฯที่ลดลงจากปีที่แล้วที่ตั้งสำรองหนี้ฯไว้สูง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ข้างหน้าก็ยังต้องระมัดระวังอยู่ เพราะในระบบยังมีลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้อยู่แต่สัดส่วนเริ่มน้อยลง สะท้อนว่าภาพของลูกค้ารายย่อย

และลูกค้าเอสเอ็มอีที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น แต่ก็ยังไม่เต็มที่เสียทีเดียว ส่วนตัวเลขเอ็นพีแอลที่ออกมาก็ยังไม่ได้สะท้อนภาพทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาแบงก์มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปค่อนข้างมาก ทำให้หนี้ไม่ตกชั้นเป็นหนี้เสีย

“ตอนนี้ลูกค้ารายย่อย และลูกค้าเอสเอ็มอีเริ่มฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น มองไปข้างหน้าในไตรมาส 4 แบงก์ก็ไม่น่าจะต้องตั้งสำรองหนี้ฯเพิ่มขึ้นอีก แต่ภาพผลกระทบโควิด-19 ก็ยังออกมาไม่เต็มที่เพราะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้น อาจจะต้องไปดูกันอีกทีในปีหน้าว่าคุณภาพสินเชื่อจะเป็นอย่างไร น่าจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น” นายนริศกล่าว

LTV หนุนสินเชื่อบ้าน Q4

ทั้งนี้ “นริศ” ประเมินว่า ไตรมาส 4ธุรกรรมแบงก์น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาส 3 ที่มีการล็อกดาวน์ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปลดล็อก LTV

เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์ที่น่าจะดีขึ้นตามยอดขายรถยนต์ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจะมีงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปีด้วย

เช่นเดียวกับ “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มไตรมาส 4 รายได้จากการปล่อยสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของแบงก์จะทยอยกลับมาตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่อนคลายขึ้น สินเชื่อบางประเภทจะกลับมาขอวงเงินเพิ่มเติม เช่นอาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้จะปรับดีขึ้น

แต่แบงก์จะยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและลดต้นทุน เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอน

คุณภาพหนี้ยังเป็นโจทย์ท้าทาย

“คาดว่าไตรมาสที่ 4 การตั้งสำรองหนี้ฯน่าจะปรับลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงการปรับกลยุทธ์การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในด้านดิจิทัลที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น รวมถึงการหาลูกค้าใหม่ภายใต้ภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและเป็นแรงกดดัน โจทย์ความท้าทายยังคงเป็นเรื่องการช่วยเหลือลูกค้าและดูแลคุณภาพหนี้ และทำตัวเองให้คล่องตัวเพื่อแข่งขันและประคองธุรกิจ”นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

ทั้งหมดนี้คงต้องติดตามกันต่อไปถ้าเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว และไม่เกิดการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้นอีก ทุก ๆ อย่างก็คงดีขึ้นเป็นลำดับ