จับตาราคาทองคำทะลุ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นักลงทุนเทขายทำกำไร

ทอง

กรุงไทย ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่า 33.00-33.45 บาทต่อดอลลาร์ จับตาโฟลว์ราคาทองคำแตะ 1,800-1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หวั่นนักลงทุนเทขายทำกำไร กดดันบาทแข็งค่าหลุดกรอบล่าง พร้อมเกาะติดตัวเลขนำเข้า-ส่งออก-ประชุมอีซีบี ส่งสัญญาณลดคิวอี-ขึ้นดอกเบี้ย

วันที่ 24 ตุลาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 25-29 ตุลาคม 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.00-33.45 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยติดตามจะเป็นการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 ต.ค.นี้

โดยตลาดจะรอดูการส่งสัญญาณเรื่องการปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) และความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ หากอีซีบีส่งสัญญาณลด QE ชัดเจนและมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้เงินสกุลยูโรแข็งค่า กดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่าได้

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามกระแสเงินทุน (ฟันด์โฟลว์) ในตลาดทองคำ โดยตลาดจะขายทำกำไรในตลาดทองคำ ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินบาท โดยหากราคาทองคำวิ่งอยู่ในกรอบ 1,800-1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะเห็นการเทขายกำไร ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า และโอกาสเงินบาทหลัดกรอบ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน รวมถึงปัจจัยการประกาศงบการเงินของบริษัททั่วโลก

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ จะเป็นการประกาศตัวเลขนำเข้าและส่งออก ซึ่งคาดการณ์ว่าการส่งออกจะยังไม่ฟื้นตัวจากปัจจัยเศรษฐกิจคู่ค้า โดยที่ตะเห็นตัวเลขการนำเข้าขยายตัวสูงกว่า 30% ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง รวมถึงติดตามการเปิดประเทศที่จะมีผลต่อบรรยากาศ (Sentiment) ของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์หน้า ประเมินว่าจะเห็นเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้นได้บ้าง แต่ภายหลังจากดัชนีของ Set Index ไปแตะสูงกว่า 1,700 จุด จะเห็นนักลงทุนเทขายทำกำไร (Take Profit) ขณะที่ตลาดพันธบัตรยังคงทรงตัวไม่หวือหวา

สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-21 ต.ค.) พบว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นจำนวน 8,738 ล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิจำนวน 1,473 ล้านบาท แม้ว่าจะมีการประมูลบอนด์ แต่จะเห็นว่ากระแสการตอบรับไม่ค่อยดีนัก ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทน (Yield) น่าจะปรับขึ้นได้อีก จึงชะลอเพื่อรอดูก่อน


“สัปดาห์หน้าแฟคเตอร์ที่ต้องติดตามและมีผลต่อค่าเงินบาท จะเป็นโฟลว์จากราคาทองคำ การส่งสัญญาณของการประชุมอีซีบี ส่วนสหรัฐฯ คงดูตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3 หากออกมาชะลอตัวลงกว่าคาดการณ์ต่ำกว่า 2% จะเห็นตลาดอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยงได้ รวมถึงการประกาศงบการเงินทั่วโลก”