ดอลลาร์อ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อของสหรัฐ

ภาพประกอบข่าว เงินดอลลาร์
Photo by Sharon McCutcheon on Unsplash

ดอลลาร์อ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อของสหรัฐ ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.09-33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (21/10) ที่ระดับ 33.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐ หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ในวันศุกร์ (22/10) ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นจนถึงปีหน้า และเฟดจะเริ่มปรับลดการซื้อสินทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้ แต่จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวที่ระดับ 1.64%

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ไอเอสเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ 57.3 ในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.0 ในเดือน ก.ย. และทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยกดดันอยู่บ้างจากปัญหาคอขวดในภาคการผลิต

สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 58.2 ในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.9 ในเดือน ก.ย. และทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 เดือนเช่นกัน อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ 59.2 ในเดือน ต.ค. ลดลง 60.7 ในเดือน ก.ย. และทำสถิติต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.09-33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 1.1645/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (21/10) ที่ระดับ 1.1638/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของยูโรโซน อยู่ที่ 58.5 ในเดือน ต.ค.ลดลงจากระดับ 58.6 ในเดือน ก.ย. แต่ดีกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 57.0

ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซนอยู่ที่ 54.7 ในเดือน ต.ค.ลดลงจากระดับ 56.4 ในเดือน ก.ย. ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 55.4 โดยนักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้

ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อในยูโรโซนที่แตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี ได้เพิ่มแรงกดดันต่อ ECB ที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1665 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1631/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 113.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (21/10) ที่ระดับ 114.02/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกข้อจำกัดการควบคุมโควิด-19 ที่บังคับใช้กับร้านอาหารในกรุงโตเกียว และพื้นที่อื่น ๆ ในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่อาจปรับตัวขึ้น

สำหรับพื้นที่กรุงโตเกียวและโอซาก้า ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่รัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดในร้านอาหาร โดยกรุงโตเกียวมียอดผู้ติดเชื้อ 19 รายเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2563

นอกจากนี้ตลาดยังจับตาสถานการณ์การเมืองในญี่ปุ่น หลังพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของญี่ปุ่นแพ้การเลือกตั้้งซ่อม 1 ใน 2 พื้นที่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความวิตกแก่นักลงทุนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งทั่วไปของพรรค LDP ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม พรรค LDP ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดยามากูชิ ซึ่งเป็นฐานเสียงของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.51-113.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.59/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ (26/10), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (26/10), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (27/10), ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของสหรัฐ (28/10), ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ต.ค.ของยูโรโซน (29/10), อัตราเงินเฟ้อ Core PCE Price Index เดือน ก.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม Boj และ ECB (28/10)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +1.00/+1.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.00/+3.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ