3 แบงก์รัฐ อัดสินเชื่อปล่อยกู้ผู้ประกอบการอีอีซี ครอบคลุม 1.35 แสนราย

เงินกู้

คลังร่วมมือคณะกรรมการนโยบายอีอีซี เร่งเสริมการลงทุน “ออมสิน-เอ็กซิมแบงก์-บสย.” พร้อมอัดสินเชื่อปล่อยกู้ผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี ครอบคลุม 1.35 แสนราย เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ ยกระดับความสามารถการแข่งขัน เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทย

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่าง ๆ โดยมีธุรกิจประชาชนในพื้นที่อีอีซีได้รับประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าวกว่า 135,788 ราย

นอกจากนี้ การร่วมมือในเรื่องดังกล่าว จะได้เป็นการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อการบริการด้านการเงินการลงทุน การนำเข้า ส่งออก และการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการนักลงทุนได้ครอบคลุมทุกความต้องการ มีความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขัน และสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือของ 3 สถาบันการเงินดังกล่าว ได้ผลักดันให้เกิดธุรกรรมทางการเงิน ที่จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซีที่สำคัญ

ออมสิน จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยผู้ประกอบการอีอีซี

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น บริการ GSB Smooth Biz for EEC เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ให้แก่กลุ่มเป้าหมายนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจผลิต การให้บริการ การพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือ Social Enterprise ในพื้นที่อีอีซี วงเงินกู้ 1–20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.99% ต่อปี ระยะเวลาตามสัญญา 1-10 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 2 ปีแรก

และบริการสินเชื่อประชาชนสุขใจ สำหรับผู้ประกอบการภายในพื้นที่อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการใช้หนี้นอกระบบ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มค้าขายหรือให้บริการรายย่อย ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อจำหน่าย วงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะเวลาตามสัญญา 3-10 ปี ซึ่งจากโครงการดังกล่าวออมสินไม่จำกัดวงเงินสินเชื่อ คาดว่าเมื่อจบโครงการจะสามารถอนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท

เอ็กซิมแบงก์ให้กู้นาน 10 ปี วงเงินรวมเฟสแรก 1 พันล้านบาท

ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ธนาคารให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น สินเชื่อ “EXIM EEC Plus Loan” เป็นวงเงินหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ และทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนในอีอีซี หรือต้องการปรับปรุงเครื่องจักร โรงงานระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของไทยที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว โดยเฟสแรกต้องกรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท หากวงเงินสินเชื่อเต็มแล้วก็จะพิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อให้

บสย.พร้อมค้ำประกันช่วยผู้ประกอบการอีอีซี

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย.ให้บริการธุรกรรมทางการเงิน เช่น บริการ บสย.ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan และบริการ บสย. ค้ำประกันให้ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชาสุขใจ สำหรับพื้นที่อีอีซี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจ ทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบ ทั้งนี้ บสย.ยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้มีค่าใช้จ่ายลดลงอีกด้วย


และ บสย. ยังมีโครงการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจ ช่วยแนะนำการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามผลกระทบในเวลานี้ และสามารถพัฒนากิจการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในระยะต่อไป