ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสดใส

เงินบาท ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสดใส ขณะที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ  33.17-33.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 27 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/10) ที่ระดับ 33.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/10) ที่ระดับ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุน หลังผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 113.8 ในเดือน ต.ค. จากระดับ 109.8 ในเดือน ก.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 108.3 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า, สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 14% สู่ระดับ 800,000 ยูนิตในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 760,000 ยูนิต โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.17-33.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (27/10) ที่ระดับ  1.1600/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/10) ที่ระดับ 1.1617/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดัน หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (INSEE) รายงานว่า ตัวเลขชี้วัดความเชื่อมั่นผู้บริโภคของฝรั่งเศสในเดือน ต.ค. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 99 จากระดับ 101 ในเดือน ก.ย. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 101 ของบรรดานักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ เนื่องจากความวิตกกังวลของภาคครัวเรือนเกี่ยวกับเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในยุโรปด้วย โดยราคาน้ำมันขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557 ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาวะชะงักงันด้านอุปทาน และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1590-1.1613 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1597/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/10) ที่ระดับ 114.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/10) ที่ระดับ 114.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับลดการประเมินเศรษฐกิจของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมยานยนต์

กระทรวงการคลังเปิดเผยรายงานประจำเดือน ต.ค. ซึ่งรวมถึงการประเมินเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทั้ง 11 ภูมิภาคเป็นรายไตรมาส รายงานระบุว่า อัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอุปทานตึงตัว โดยปรับตัวลงจากระดับก่อนหน้าที่ระบุไว้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น “กำลังฟื้นตัว แม้จะมีสัญญาณของความอ่อนแอในบางภาคส่วน”

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมากในช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.68-114.22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (27/10), ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของสหรัฐ (28/10), ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ต.ค. ของยูโรโซน (29/10), อัตราเงินเฟ้อ Core PCE Price Index เดือน ก.ย. ของสหรัฐ (29/10) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BOJ และ ECB (28/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +1.10/+1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ +1.35/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ