ธปท.เผย โควิดทำคนไทย 62% เจอภาวะเงินชอร์ต

เอทีเอ็ม
Photo by Jack TAYLOR / AFP

ธปท.เปิดผลสำรวจทักษะการเงินไทยปี’63 พบคะแนนพัฒนาการทักษะการเงินดีขึ้นมาอยู่ที่ 71.0% สูงกว่าปี’61 เผย ภายใต้โควิด-19 กดดันครัวเรือนเปราะบางขึ้น รายได้โดนกระแทก-กันชนเงินออมบาง ชี้คนไทยมีแค่ 38% เอาตัวรอดจากภาวะเงินชอร์ตได้ พร้อมเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงินภาคประชาชนกว่า 17.5 ล้านคน

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายบริหารความเสี่ยงองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะทางการเงินที่ดี อันจะเป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถดูแลตนเองได้ แม้ต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ อาทิ หนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและธุรกิจในวงกว้าง

 

โดยในปี 2563 ธปท.ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นครั้งที่ 8 ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,901 ครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี

พบคนไทยมีทักษะการเงินดีกว่า 2 ปีก่อน

สำหรับภาพรวมผลการสำรวจทักษะทางการเงิน ปี 2563 แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ 71.0% สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 ที่อยู่ 66.2% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 2563 ที่อยู่ 60.5%

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงและน่าสังเกต คือ จะเห็นว่าครัวเรือนมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนผู้สำรวจที่มีการบริหารจัดการทางการเงินพอใช้มีเพียง 38% ที่มีเงินสำรองอยู่ได้เกิน 3 เดือน หากต้องหยุดงานกะทันหัน หรือสามารถเอาตัวรอดได้ในภาวะเงินชอร์ต

อีกทั้งยังมีมากกว่า 62% ที่ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ สะท้อนสถานะทางการเงินที่ความเปราะบาง ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่ลดลงจากแรงกระแทกของโควิด-19 และประชาชนไม่มีกันชนเรื่องเงินออมที่เพียงพอ

ตลอดจนมีการกู้ยืมเงินจากหลายช่องทางโดยมีการบริหารจัดการไม่ดี ทำให้คนรอดจากภาวะเงินชอร์ตได้น้อย ประกอบกับ ธปท.มีการสำรวจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

นอกจากนี้ ประชาชน 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% ไม่รู้ว่าตัวเองมีเงินออมพอแค่ไหน ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงเช่นเดียวกัน

ขณะที่มีคนไทยไม่ถึง 1 ใน 5 หรือประมาณ 17.8% ที่มีแผนออมเพื่อเกษียณและทำได้ตามแผน และมีสูงถึง 48.2% ที่เริ่มแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ และมีคนไทยสัดส่วนถึง 15.3% ที่ยังไม่วางแผนการออมเพื่อเกษียณ

นางสาวนวพรกล่าวว่า เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความรู้ทางการเงิน 2.ด้านพฤติกรรมทางการเงิน และ 3.ด้านทัศนคติทางการเงิน พบว่าคนไทยมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้าน โดยความรู้ทางการเงินอยู่ที่ 62.9% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 55.7% ในปี 2561 ปรับตัวดีขึ้นในทุกหัวข้อแต่ยังมีหัวข้อที่สามารถพัฒนาและส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมูลค่าของเงินตามกาลเวลา

ขณะที่ด้านพฤติกรรมทางการเงินอยู่ที่ 71.1% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 67.8% ในปี 2561 โดยหัวข้อการจัดสรรเงินก่อนใช้และศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่เหมาะสมมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ดี หัวข้อการบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้มีคะแนนลดลง

ด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ที่ 82.0% เพิ่มขึ้นจาก 78.0% ในปี 2561 มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทัศนคติในเรื่องการวางแผนเพื่ออนาคตในระยะยาวเป็นหัวข้อที่มีพัฒนาการจากปี 2561 มากที่สุด ซึ่งความไม่มั่นคงทางรายได้จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะมีส่วนทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตมากขึ้น

เบบี้บูมเมอร์ มีทักษะทางการเงินน้อยกว่าเจนฯ อื่น

“เมื่อพิจารณาระดับทักษะทางการเงินตามมิติช่วงวัยพบว่าทุกวัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้านสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ โดย Gen Y มีระดับทักษะทางการเงินดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่น เนื่องจากมีคะแนนด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงินสูง แต่มีคะแนนทัศนคติทางการเงินค่อนข้างน้อย รองลงมาคือ Gen X

“โดยทัศนคติทางการเงินเป็นหัวข้อที่มีคะแนนสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น Gen Z มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อยโดยมีคะแนนด้านพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินน้อยที่สุดในทุกช่วงวัย แต่มีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับคะแนนปี 2561 โดยเฉพาะด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน

“ขณะที่ Gen Baby Boomer ขึ้นไป มีคะแนนทักษะทางการเงินน้อยที่สุดโดยมีคะแนนด้านความรู้น้อยกว่าช่วงวัยอื่น”

โควิดปลุกคนไทยออมรับมือฉุกเฉิน-เกษียณ

นางสาวนวพรกล่าวว่า สำหรับการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการออม พบว่าสัดส่วนผู้มีเงินออมในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นเป็น 74.7% ในปี 2563 จาก 72.0% ในปี 2561 และคนส่วนใหญ่มีความตระหนักเรื่องการออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และการออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นของการเก็บเงินสำรองมากขึ้น

ทั้งนี้ แรงจูงใจสำคัญในการออมมาจากการมีเป้าหมายหรือแผนที่ชัดเจนที่จะต้องใช้เงินในอนาคต แต่มีเพียง 19.7% ที่จัดสรรเงินเพื่อออมก่อนนำเงินไปใช้จ่ายจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายการออมไม่สำเร็จ

ทั้งนี้ ธปท.ได้ดำเนินการด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนตั้งแต่ปี 2555 ผ่านช่องทางต่างๆ มากกว่า 17.5 ล้านคน โดยส่งเสริมความรู้ในวงกว้างผ่านช่องทาง online platform Facebook ของ ศคง. 1213 และ เครือข่ายพันธมิตร เช่น อสม. รวมถึงสื่อท้องถิ่น ด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย สอดคล้องกับเหตุการณ์ในชีวิต ในหัวข้อเน้นประเด็นที่เป็นปัญหาการเงินเร่งด่วน เช่น การบริหารจัดการเรื่องหนี้ และประเด็นที่ควรพัฒนา/จุดอ่อน เช่น Digital Literacy ภัยการเงิน

นอกจากนี้ ส่งเสริมให้มีการออมและวางแผนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินการ 2 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการ Fin. ดี We Can Do ! ! ! สำหรับกลุ่มนักศึกษาอาชีวะ ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา (สอศ.) จัดประกวดบนแนวคิด “ผลงานของคนอาชีวะเพื่อคนอาชีวะ” เป็นปีที่ 3 โดยมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อกระตุกความคิดเรื่องการเงิน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ

และ (2) โครงการ Fin. ดี Happy Life ! ! ! สำหรับกลุ่มวัยทำงาน แก่ตัวแทนประจำหน่วยงาน (Fin. Trainer) เพื่อนำไปขยายผลให้แก่พนักงานในหน่วยงาน ในรูปแบบการให้ความรู้ จัดกิจกรรม และเป็นพี่เลี้ยงตลอดโครงการ

โดยสนับสนุนให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ (Financial resilience) เช่น พัฒนาคู่มือ “รู้รอบเรื่องเงิน พร้อมเผชิญทุกวิกฤต” เผยแพร่บนเว็บไซต์ ศคง. 1213 และส่งผ่านความรู้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโควิดผ่านองค์กรพันธมิตรของสมาคมภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ในรูปแบบของอินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ หลักสูตรอบรมออนไลน์ บทความ ธปท. ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในอันที่จะปลูกฝังและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่ประชาชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน