ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลงร้อยละ 1.4 หลังท่อส่งน้ำมัน Keystone กลับมาดำเนินการอีกครั้ง

– ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปิดตลาดลดลงกว่าร้อยละ 1.4 โดยได้รับแรงกดดันจากการที่ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ซึ่งมีกำลังการส่งน้ำมันดิบ 590,000 บาร์เรลต่อวันจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังปิดซ่อมบำรุงไปราวสองสัปดาห์ก่อนเนื่องจากเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบกว่า 5,000 บาร์เรลขึ้นในบริเวณตอนใต้ของรัฐ South Dakota

+/- แม้ว่าตลาดจะได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกส่วนใหญ่แสดงท่าทีในการขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหลังเดือน มี.ค. 2561 โดยกลุ่มโอเปกคาดว่าตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่สมดุลได้ภายหลังเดือน มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป แต่ตลาดยังคงจับตามองรัสเซียว่าจะให้ความร่วมมือหรือไม่ หลังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะขยายการลดกำลังการผลิตออกไป

– ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในช่วงต้นปี 2561 โดยมาจากแหล่ง Sakhalin-1 ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 4 แตะระดับ 250,000 ถึง 260,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงเดือน ม.ค.

+/- นักวิเคราะห์จาก Barclays คาดว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตออกไปได้อีกราว 6 ถึง 9 เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มตอบรับด้วยการขายทำกำไรหรือ Sell on Fact หลังการประชุมโอเปกในวันที่ 30 พ.ย. ที่จะถึงนี้ หากข้อตกลงไม่ได้ออกมาเกินความคาดหมายของตลาด เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าอุปทานจากทางเอเชียเหนือจะยังอยู่ในระดับสูง และการส่งน้ำมันเบนซินไปยังตะวันออกกลางยังไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากขาดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก็ตาม

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยอุปทานน้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียอยู่ในระดับสูงกว่าอุปสงค์ หลังโรงกลั่นเร่งผลิตเนื่องจากส่วนต่างราคาอยู่ในระดับที่ดี ในขณะที่ผู้ขายไม่สามารถส่งอุปทานส่วนเกินไปยังตะวันตกได้ เนื่องจากขาดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เช่นกัน

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 56 – 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61 – 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาการประชุมโอเปกในวันที่ 30 พ.ย. 60 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปเท่าใดจากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 โดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียได้มีการออกมากล่าวสนับสนุนการลดการผลิตออกไป 9 เดือนถึงเดือน ธ.ค. 61 เพื่อเป็นการลดปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil Stocks) ลงสู่ระดับเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับนักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะขยายระยะเวลาของข้อตกลงออกไปอีก 9 เดือน หลังปริมาณน้ำมันน้ำมันคงคลังล่าสุดในเดือน ก.ย. ยังสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ประมาณ 154 ล้านบาร์เรล

สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวมากขึ้น จากเหตุการณ์การกวาดล้างคอรัปชั่นภายใต้การนาของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎหราชกุมารของซาอุดิอาระเบีย เหตุการณ์ดังกล่าวนับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุนต่อเสถียรภาพทางการเมืองในซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับขึ้นหลักๆ มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบจาก Shale oil ในเดือน ธ.ค. มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 80,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 6.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน