ธปท. ระบุเงินบาทเดือน ต.ค. อ่อนค่าตามบอนด์ยีลด์-เงินเฟ้อสหรัฐฯ

เงินบาท ดอลลาร์

ธปท. เผยค่าเงินบาทเดือนต.ค.ปรับอ่อนค่าตามเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังตลาดกังวลอัตราเงินเฟ้อดันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เร่งตัว และเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นตามข่าวการเปิดประเทศ ระบุดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ จากดุลการค้าเพิ่มขึ้น ยันเงินเฟ้อไทยยังไม่น่าห่วง แรงกดดันต่อนโยบายการเงินน้อยกว่าต่างประเทศไทย

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทตั้งแต่วันที่ 1-25 ตุลาคม พบว่าในช่วงต้นเดือนมีทิศทางอ่อนค่าลงตามดอลลาร์ที่ปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น และหลังจากนั้นจะเห็นว่าค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยในประเทศ โดดยมีเรื่องการเปิดประเทศ โดยไมต้องกักตัว ทำให้บรรยากาศ (Sentiment) กลับมา ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่า

ขณะที่เงินบาทในเดือนกันยายนโดยรวมเฉลี่ยทรงตัวจากเดือนสิงหาคม โดยในช่วงแรกของเดือนเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และจำนวนผู้ติดเชื้อปรับลดลง อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของเดือนกันยายนเงินบาทกลับมาอ่อนค่าเร็ว เป็นผลมาจากนโยบายของธนาคารกลางหลักของโลกที่ส่งสัญญาณนโยบายการเงิน รวมถึงความกังวลของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีน ทำให้มีการลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงการออกพันธบัตรของภาครัฐของไทยที่มากกว่าที่คาดไว้

“ค่าเงินบาทโดยรวมในเดือนก.ย.ดัชนีทรงตัวจากเดือนก่อน เมื่อเทียบกับภูมิภาคคู่ค้าคู่แข่ง และปรับอ่อนค่าลงในเดือนตุลาคมตามเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น”

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนตามดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น โดยเดือนก.ย.ขาดดุลอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนขาดดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลง เนื่องจากสหรัฐฯ และอังกฤษ ประกาศไทยเป็นประเทศมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า แต่หลังจากนั้นสัญญาณก็ปรับดีขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อและการฉีดวัคซีน โดยมีการปลดชื่อไทยออกจากกลุ่มเสี่ยงสูง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น หลังจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของภาครัฐสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 1% อยู่ในขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งยังไม่ได้สูงมาก ประกอบการกับฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าประเทศอื่น เป็นการฟื้นตัวในลักษณะ K ขาล่าง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อต่อนโยบายการเงินน้อยกว่าประเทศอื่น