เศรษฐกิจเดือน ก.ย. ส่งสัญญาณฟื้นตัวตามผ่อนคลายล็อกดาวน์

ธปท.เผยสัญญาณเศรษฐกิจเดือนก.ย.ปรับดีขึ้นทุกตัวตามผ่อนคลายล็อกดาวน์ หนุนการบริโภคโต 3.9% ความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นในรอบ 7 เดือน ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นตามกิจกรรมเปิดประเทศ ชี้ ไตรมาส 3 จุดต่ำสุดจากผลกระทบการระบาดโควิดรุนแรง พร้อมเกาะติดน้ำท่วม-ปัญหาซัพลายดิสรัปชั่น

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2564 โดยดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในเดือนก.ย.ปรับตัวดีขึ้นทุกตัว

เนื่องจากเป็นเดือนที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 การกระจายวัคซีนและฉีดวัคซีนดีขึ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทยอยปรับลดลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 โดยเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ค่อนข้างแย่กว่าไตรมาสที่ 2 และเป็นไตรมาสถึงจุดต่ำสุด

ทั้งนี้ หากดูสัญญาณเครื่องชี้วัดในเดือนก.ย.64 โดยการบริภคเอกชนปรับดีขึ้นทุกหมวด โดยขยายตัว 3.9% จากเดือนส.ค.หดตัว -2.1% มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาดีขึ้นแต่อยู่ในระดับต่ำ หลังจากปรับลดลงต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน 2.ผลของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) ในหมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นผ่านยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้น และ 3.มาตรการภาครัฐยังมีบทบาทพยุงแรงซื้อผ่านมาตรการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น

ขณะที่ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบาง โดยเห็นสัญญาณแรงงานย้ายกลับถิ่นฐานลดลงจากก่อนหน้ามาทำงานภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อย่างไรก็ดี แรงงานม.39 และ 40 ยังคงเข้าขอลงทะเบียนว่างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนคนตกงานแต่ยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้

อย่างไรก็ดี มองว่าจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างจำนวน 3.4 ล้านคน น่าจะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แคต่ยังคงเปราพบาง เนื่องจากหลุมรายได้หายไปจำนวนมาก

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นโดยขยายตัวอยู่ที่ 1.5% จากเดือนก่อนหน้าหดตัว -2.3% ตามภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจดีขึ้น รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการปิดแคมก่อสร้าง ส่งผลให้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดก่อสร้างปรับดีขึ้น

เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัว 5.8% เทียบช่วงเดียวปีก่อน ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว -14.8% จากฐานที่สูงปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจทรงตัว -0.2% มีการเบิกจ่ายใกล้เคียงกับปีก่อน

สำหรับการส่งสินค้าปรับดีขึ้นตามอุปสงค์คู่ค้า โดยขยายตัวได้ 2% จากเดือนก่อนหดตัว 3.7% โดยปรับดีขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะยานยนต์ที่เห็นการผงกหัวขึ้นโดยมีการส่งออกไปยังเวียดนาม ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นดีขึ้น และอลูมิเนียมส่งออกไปยังสหรัฐและอินเดีย เป็นต้น

โดยการส่งออกดีขึ้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว โดยสหรัฐฯ ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับจีนที่ปรับดีขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดจากปัญหาซัพลลายดิสรัปชั่น การแคลนขาดตู้คอนเทรนเนอร์

“ภาพเศรษฐกิจเดือน.ก.ย.ภาพรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ และการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามปัญหาซัพพลายดิสรัปชั่น ขณะที่ไตรมาสที่ 3 ได้รับผลกระทบรุนแรงและได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยตัวเลขจะออกมาเท่าไรนั้น จะต้องรอตัวเลขทางการจากสภาพัฒน์ฯ

ขณะที่ประเด็นน้ำท่วมยังคงติดตาม แต่โดยรวมเริ่มคลี่คลาย โดยผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมไม่มาก เพราะมีบทเรียนในปี 54 แต่ในส่วนผลกระทบภาคเกษตรคิดเป็น 0.1% ของจีดีพี และมีเกษตรได้รับผลกระทบ 4.6 แสนราย กระทบผลผลิตข้าวนาปี 9 แสนตัน”