ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว

เงินบาท ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 24-29 ตุลาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (11/10) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (21/10) ที่ระดับ 33.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐ หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ในวันศุกร์ (22/10) ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นจนถึงปีหน้า และเฟดจะเริ่มปรับลดการซื้อสินทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้ แต่จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวที่ระดับ 1.64%

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ 57.3 ในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.0 ในเดือน ก.ย. และทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยกดดันอยู่บ้างจากปัญหาคอขวดในภาคการผลิต

สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 58.2 ในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.9 ในเดือน ก.ย. และทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 เดือนเช่นกัน อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐ อยู่ที่ 59.2 ในเดือน ต.ค. ลดลงจาก 60.7 ในเดือน ก.ย. และทำสถิติต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่าง ๆ กล่าวคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผย ดัชนี Chicago Fed National Actvity Index (CFNAI) ปรับตัวลงสู่ระดับ -0.13 ในเดือนกันยายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.35 จากระดับ 0.05 ในเดือนสิงหาคม สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวลงของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือนสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.3% ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้แสดงความเชื่อมั่นว่า สหรัฐจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ พร้อมกับคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับปกติภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

นอกจากนี้ ล่าสุดประธานธนาคารสหรัฐ (เฟด) ออกมาแถลงว่า เฟดจะเริ่มกระบวนการลดการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการปรับลดการซื้อสินทรัพย์ แต่จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวเพียง 2.0% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.7% การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่เผชิญภาวะหดตัว 31.2% ในไตรมาส 2 ของปี 2563 ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 6.7% ในไตรมาส 2 และ 6.3% ในไตรมาส 1

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลง รวมทั้งตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภค มีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนค่าลง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ ไตรมาส 3/64 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าต่างประเทศในไทย 29 ประเทศ จากทั้งสิ้น 41 ประเทศ รวม 66 ราย ระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. 64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ และดีที่สุดในรอบปีนี้

โดยดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 41.7 เพิ่มจาก 27.7 ในไตรมาส 2/64 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 53.1 เพิ่มขึ้น 32.5 และดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบัน อยู่ที่ 30.2 เพิ่มจาก 22.8 ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.00-33.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 33.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์นี้ (24/10) ที่ระดับ 1.1645/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (21/10) ที่ระดับ 1.1638/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทั้งนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของยูโรโซน อยู่ที่ 58.5 ในเดือน ต.ค. ลดลงจากระดับ 58.6 ในเดือน ก.ย. แต่ดีกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 57.0 ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซนอยู่ที่ 54.7 ในเดือน ต.ค.ลดลงจากระดับ 56.4 ในเดือน ก.ย.ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 55.4

โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพฤหัสบดี (28/10) ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้ ที่ประชุม ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

นอกจากนี้ ECB ระบุว่า ทางธนาคารจะยังคงซื้อพันธบัตรวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือนภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) และซื้อพันธบัตรในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) จนถึงเดือน มี.ค. 2565 วงเงินรวม 1.85 ล้านล้านยูโร (โดย ECB ประกาศคงนโยบายการเงิน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนพุ่งแตะ 3.4% ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกจของทางฝั่งยูโรโซนนั้น GfK ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยตลาดของเยอรมนี เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีเดือน พ.ย.ปรับตัวขึ้นแตะ 0.9 จากระดับ 0.4 ของเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.5 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นระดับที่ 2 แล้ว แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ

โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1585-1.1690 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 1.1647/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (24/10) ที่ระดับ 113.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (21/10) ที่ระดับ 114.02/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกข้อจำกัดการควบคุมโควิด-19 ที่บังคับใช้กับร้านอาหารในกรุงโตเกียวและพื้นที่อื่น ๆ ในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกังวลเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่อาจปรับตัวขึ้น

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสำหรับปีงบการเงินที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. และยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป BOJ ระบุหลังเสร็จสิ้นการประชุมกำหนดนโยบายเป็นเวลา 2 วันในวันที่ 28 ตุลาคมว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัว 3.4% ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.8%

ส่วนราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารสดที่มีความผันผวนนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.0% ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่า อาจเพิ่มขึ้น 0.6 ทั้งนี้ BOJ ประกาศคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0% เพื่อรักษาต้นทุนการกู้ยืมไว้ที่ระดับต่ำสำหรับบริษัทต่าง ๆ และภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.30-114.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 113.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ