คิงไวกรุ๊ป แก้ขาดทุนสะสม ออกหุ้นเพิ่มทุนแปลงหนี้-ดันส่วนผู้ถือหุ้นเกิน 50%

คิงไวกรุ๊ป (KWG) แก้ขาดทุนสะสม 2,124 ล้านบาท ออกหุ้นเพิ่มทุนแปลงหนี้ “บริษัททอมโม” มูลค่า 1,199 ล้านบาท ดันส่วนผู้ถือหุ้นเกินกว่า 50% ไม่หลุดออกจากเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ เดินเครื่อง “ธุรกิจอสังหา-ประกัน” ต่อ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 บริษัท คิง ไว กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KWG รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทต้องประสบกับปัญหาทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลการดำเนินงานที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากบริษัทอยู่ในช่วงขยายธุรกิจถึงแม้ว่าทางบริษัทจะได้มีการปรับตัวโดยการเข้าลงทุนในธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นธุกิจที่เกื้อหนุนกันกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และยังมีศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มั่นคงให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะลดความเสี่ยงและสร้างผลประโยชน์ให้แก่บริษัทอย่างมั่นคงและยั่งยืน

แต่เนื่องจากธรรมชาติของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นสร้างรายได้ลักษณะเป็นก้อนใหญ่ตามช่วงเวลาที่รับรู้รายได้จากการโอน ขณะที่ธุรกิจประกันภัยนั้นรับรู้รายได้เบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งช่วยให้รายได้และกระแสเงินสดของบริษัทมีเสถียรภาพ ส่งผลให้บริษัทสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว

อย่างไรก็ดี แม้บริษัทจะใช้ความพยายามในการกอบกู้สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทมากเพียงใด แต่ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 กับเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หดตัวลง ผู้บริโภคไม่แน่ใจในความมั่นคงด้านอาชีพการงานของตนเอง ส่งผลให้บ้านและคอนโดมีเนียมล้นตลาด ผู้ประกอบการต้องลดราคาลง และไม่สามารถทำยอดขายได้เหมือนในอดีต

อีกทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่งผลให้บริษัทต้องชะลอการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมออกไปและทบทวนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

จากปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัททำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว ตามงบการเงินไตรมาส 2/2564 ทางตลาดหลักทรัพย์ฯจึงขึ้นเครื่องหมาย C เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ฐานะทางการเงินของบริษัทสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามที่ปรากฎในงบการเงินรวมบริษัทพบว่า บริษัทมียอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ 2,124 ล้านบาท มีภาระหนี้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 10,161 ล้านบาท

และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการงินรวมของบริษัทประมาณ 5.1 เท่า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับฐานะทางการเงินของบริษัทสิ้นปีก่อนหน้าพบว่าบริษัทมียอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ 1,809 ล้านบาท มีภาระหนี้สินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,148 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินรวมของบริษัทประมาณ 2.7 เท่า

นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทกู้ยืมเงินจากบริษัท ทอมโม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมียอดเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทอมโมทั้งสิ้น 2,137 ล้านบาท ทางบริษัทมีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้งทางการเงินของบริษัทด้วยวิธีการปรับโครงสร้างหนี้

โดยการลดภาระหนี้สินของบริษัทลงเพื่อให้อัตราสวนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น รวมถึงสร้งความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและสถาบันทางการเงิน และเพิ่มความสามารถในการขอสินเชื่อและการเข้าทำธุรกรรมต่าง ๆ ในอนาคต บริษัทจึงดำเนินโครงการแปลงหนี้เป็นทุนในครั้งนี้ โดยได้ดำเนินการเจรจากับทอมโมซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคิงไวเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท โดยการแปลงหนี้เงินต้นสำหรับหนี้กู้ยืมที่ค้างชำระจำนวน 1,199.99 ล้านบาท เป็นทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ

โดยทอมโม ตกลงเข้าร่วมโครงการแปลงหนี้เป็นทุนจํานวน 1,199 ล้านบาท ซึ่งตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุนบริษัทฯ จะดําเนินการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในรูปแบบการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจํากัด (PP) ให้แก่ทอมโมในราคาเสนอขายที่ 1.65 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาเสนอขายตามราคาตลาด โดยไม่มีส่วนลดจากราคาตลาด

ภายหลังจากการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน การถือหุ้นของทอมโมจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ถือหุ้นสามัญของบริษัทจำนวน 503.34 ล้านหุ้น คิดเป็น 38.22% ของจํานวนหุ้นที่จําหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ เป็นถือหุ้นสามัญของบริษัทไม่เกิน 1,230.61 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 60.20% ของจํานวนหุ้นที่จําหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ

หากเป็นผลสําเร็จจะทําให้บริษัทมียอดหนี้ทอมโมคงเหลือสุทธิจํานวน 937.89 ล้านบาท และทําให้บริษัทมีภาระหนี้สินรวมทั้งหมดลดลงจากที่ปรากฎในงบการเงินรวมของบริษัท สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จาก 10,161 ล้านบาท เป็นจํานวน 8,961 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินรวมของบริษัทจะลดลงจากประมาณ 5.1 เท่า เป็น 2.8 เท่าซึ่งอาจส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทั่วไป

รวมถึงบริษัทจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากโครงการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งจะทําให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเกินกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนและชําระแล้ว ซึ่งจะแก้ไขเครื่องหมาย C และบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไปในขณะที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้