ฐิติกร ชี้คุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ กระทบประชาชน ธุรกิจจ่อเพิ่มเงินดาวน์เป็น 30-50%

บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK
แฟ้มภาพ

“ฐิติกร” ชี้ สคบ.คุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ “รถยนต์-รถจักรยานยนต์-รถแทรกเตอร์-เครื่องจักรกลการเกษตร” ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงานของผู้ให้บริการและค่าความเสี่ยงต่อลูกหนี้ หวั่นกระทบประชาชน ภาคธุรกิจจ่อเพิ่มเงินดาวน์จาก 0-15% เป็น 30-50% ห่วงผลกระทบเชิงลบภาคอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทยทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและจะมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น

ประพล พรประภา
ประพล พรประภา

บริษัทได้ศึกษาผลกระทบต่าง ๆ และเห็นว่าหากเดินหน้าตามประกาศดังกล่าว ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะการเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อซื้อรถจะเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศทั้งในเมืองและในพื้นที่ห่างไกล

จากร่างประกาศดังกล่าว ที่คาดว่าจะมีกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ 15% โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคนั้น ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงานของผู้ให้บริการ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับค่าความเสี่ยงในการให้บริการเช่าซื้อกับลูกหนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รายได้ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีหลักฐานทางการเงินประกอบการการกู้ยืมแต่อย่างใด

ทั้งนี้หากต้องปฏิบัติจริงตามร่างประกาศฯ ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จะต้องปรับการดำเนินงานให้สามารถรองรับกับทั้งต้นทุนในการดำเนินงาน รวมทั้งความเสี่ยงในการให้บริการกับลูกหนี้ เช่น การปรับเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 30-50% ตามประเภทและรุ่นของรถ รวมทั้งตามโปรไฟล์ความเสี่ยงของผู้บริโภค การเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อหรือปรับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เป็นต้น

“ปัจจุบันเงินดาวน์เพียง 0-15% ของราคารถจักรยานยนต์ ลูกค้าก็ค่อนข้างลำบากในการหาเงินก้อนเพื่อมาดาวน์อยู่แล้ว ล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั้งประเทศ 11,901 ครัวเรือน พบว่า 61.1% ของกลุ่มตัวอย่างมีปัญหาเงินชอร์ตหรือเงินออมใช้ในกรณีฉุกเฉินไม่ถึง 3 เดือน หรือไม่มีเงินออมเลย โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจในช่วงโควิด

อีกทั้งหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.5% สูงที่สุดในรอบ 18 ปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 17 ของโลก หากผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในขณะที่ต้องทำตามกฎระเบียบที่ภาครัฐกำหนด แน่นอนว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะต้องกลับไปใช้บริการกู้หนี้นอกระบบ

ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาภายหลังมากมาย ไม่ว่าเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูง ปัญหาการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม และไม่สามารถถูกควบคุมมาตรฐานตามกฎหมายได้ ปัญหาภาระหนี้สูงเกินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภค รวมถึงปัญหาสังคม อีกทั้งภาครัฐยังไม่สามารถเก็บภาษีจากธุรกิจเงินกู้นอกระบบได้” นายประพลกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อการเข้าถึงแหล่งเงินในการซื้อรถจักรยานยนต์เป็นเรื่องที่ยากขึ้น จะส่งผลโดยตรงให้จำนวนผู้เช่าชื้อรถจักรยานยนต์ลดลง และจะมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทย ตั้งแต่โรงงานผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบ โรงงานผลิตอะไหล่ โรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ ผู้จัดจำหน่าย ดีลเลอร์ บริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน รวมไปถึงบริษัทขนส่งที่จะมีรายได้ลดลง

เนื่องจากมีผู้บริโภคเพียง 20% ที่ซื้อรถจักรยานยนต์ด้วยเงินสด แต่อีก 80% ต้องใช้บริการเช่าซื้อ ในส่วนภาครัฐจะเสียผลประโยชน์จากการจัดเก็บภาษี ทั้งเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีส่งออกภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีสรรพสามิตและภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ควรเก็บได้จากธุรกิจเช่าซื้อ จากผู้ขายรถ ผู้ประกอบรถ ไปถึงจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

“ปัจจุบันมีผู้ให้บริการสินเชื่อในตลาดกลุ่มนี้จำนวนมากทั้งผู้ให้บริการรายใหญ่และรายย่อย ครอบคลุมลูกค้ารายย่อยทั่วประเทศ รวมทั้งมีการแข่งขันในการให้บริการและการเสนออัตราดอกเบี้ยที่เป็นไปตามกลไกตลาดแบบธรรมชาติ กล่าวคือ ผู้เสนอดอกเบี้ยต่ำหรือเงื่อนไขพิเศษก็จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากกว่า ทำให้มีการแข่งขันในการเสนอดอกเบี้ยที่มีการแข่งขันเสรีอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ให้บริการสินเชื่อแก่ภาคประชาชนปีละ 60,000-100,000 ล้านบาทต่อปี และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนไม่ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ จึงอยากขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องการทำโครงการช่วยเหลือภาคประชาชน ให้พิจารณาผลกระทบแบบ 360 องศา รวมทั้งศึกษาส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากหลายโครงการที่ผ่านมา ช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น แต่กลับส่งผลลบในระยะยาว” นายประพลกล่าว

“เราคาดว่าอาจมีผลกระทบเชิงลบทั้งกับภาคอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทยในภาพรวมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากภาคประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ส่งผลต่อยอดขายรถ กระทบตั้งแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่มีการจ้างงานกว่า 550,000 คน ซึ่งในปี 2562 มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 1.09 ล้านล้านบาท หรือ 6.4% ของมูลค่า GDP ที่ทางภาครัฐส่งเสริมให้เพิ่มการลงทุนในด้านรถไฟฟ้า เพื่อเป็น S Curve ใหม่ของเศรษฐกิจไทยในการส่งออก

ซึ่งถ้าตลาดในประเทศไม่มีขนาดใหญ่พออาจจะส่งผลให้ผู้ผลิตไม่ลงทุนต่อในประเทศไทย หรือย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศที่มี Economy of Scale ที่ดีกว่าในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย เนื่องจากมีตลาดภายในประเทศใหญ่กว่าไทย และมีวัตถุดิบ Nickel มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งใช้ในการผลิต Battery รถไฟฟ้า อีกทั้งกระทบการจ้างงานของผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์กว่า 100,000 คน ที่กระจายอยู่ทุกจังหวัดในประเทศ

เมื่อประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ จึงต้องกลับสู่เงินกู้นอกระบบ ภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีจากธุรกิจเช่าซื้อรถรวมทั้งจากอุตสาหกรรมยานยนต์ได้น้อยลง รวมทั้งผลกระทบกับสังคมในภาพรวมจากเงินกู้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นวอนรัฐพิจารณาผลกระทบรอบด้านทั้งระยะสั้นและระยะยาว

อนึ่ง ฐิติกร เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 1,800 คน มีสาขาบริการรวม 75 สาขา มีบริษัทลูกในประเทศ 3 บริษัท และต่างประเทศ 3 บริษัท ในกัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา ให้บริการลูกค้าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งในและนอกประเทศโดยมีลูกค้าประมาณ 300,000 ราย