จับตากองทุนหุ้นสหรัฐ เจอเอฟเฟ็กต์ “เงินเฟ้อ-บอนด์ยีลด์” พุ่ง

เงินเดือน

ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2551 โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ให้นักลงทุนเกิดความกังวล และเริ่มเห็นการชะลอการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐในระยะนี้

เงินไหลเข้ากองทุนลดลง

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช ประเทศไทย สะท้อนภาพว่า เม็ดเงินในกองทุนหุ้นสหรัฐขณะนี้มีการชะลอตัวลงจากช่วงต้นปี โดยในไตรมาส 3 มีเงินไหลเข้าสุทธิเพียง 1,100 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกที่มีเงินไหลเข้ามากกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับตัวขึ้นสูงกว่าช่วงต้นปี กลายเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกองทุนหุ้นสหรัฐทั้งสิ้น จำนวน 57 กองทุน เป็นกองทุนเปิดใหม่ในปีนี้จำนวน 24 กองทุน โดยกองทุนเปิดใหม่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีเพียง 3 กองทุน ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2564 กองทุนหุ้นสหรัฐมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ที่ 5 หมื่นล้านบาท

โดยช่วง 9 เดือน มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 9,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 7,800 ล้านบาท

ผลตอบแทนเฉลี่ย 15.5%

สำหรับผลตอบแทนเฉลี่ยรอบ 9 เดือนแรกปีนี้ “ชญานี” บอกว่า กองทุนหุ้นสหรัฐมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 15.5% โดยกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในปัจจุบัน เป็นกองทุน ABAGS จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด

ผลตอบแทนอยู่ที่ 37.44% ตามด้วยกองทุน TUSEQ-UH จาก บลจ.ทิสโก้ ผลตอบแทนอยู่ที่ 35.78% และยังมีกองทุนจาก บลจ.ไทยพาณิชย์ และ บลจ.ทหารไทย ที่ให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 20% (ดูตาราง)

“เงินเฟ้อเร่งตัว-เฟดลดคิวอี”

“นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐมีเงินไหลเข้าค่อนข้างสูงจากผลตอบแทนที่มีความโดดเด่นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

แต่ในระยะหลังโดยเฉพาะในช่วงเดือน ต.ค. ตลาดมีความกังวลต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จึงเป็นตัวเร่งการดำเนินนโยบายทางการเงินของเฟดในการลดมาตรการคิวอี (QE tapering) เร็วกว่าคาด ทำให้เห็นเงินไหลออกจากกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐ

โดยในด้านการประเมินราคา (valuations) ปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐซื้อขายอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตและประเทศอื่น เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น

แต่การลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐยังคงแนะนำถือลงทุนต่อได้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง จากการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีเข้ามาต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า แต่ความน่าสนใจระยะสั้น มีแนวโน้มลดลงจากราคาหุ้นที่ค่อนข้างตึงตัว และอัพไซด์ที่จำกัด

“แนะนำลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จากหุ้นกลุ่มเติบโต (growth) เป็นหุ้นคุณค่า (value) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งนี้ ในระยะสั้นอาจจะต้องระมัดระวังกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบสูงจากนโยบายภาษี

ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี แต่สำหรับมุมมองระยะยาว การลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐ ที่มีอัตราการเติบโตของผลประกอบการและมีอัตรากำไรที่สูงก็มองว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวได้ต่อไป” นางนันท์มนัสกล่าว

เงินเฟ้อสูงถึงกลางปีหน้า

ด้าน “ชาญชัย พันทาธนากิจ” ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า หากอ้างอิงตามมุมมองของประธานเฟด รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่มองว่าเงินเฟ้อของสหรัฐมีโอกาสที่จะอยู่ในระดับสูงไปจนถึงกลางปีหน้า

รวมถึงมองประเด็นเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยเชื่อว่าหลังจากผ่านกลางปีหน้าไปเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะยาว

“ฉะนั้นหากมองเรื่องเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราว ก็คงจะเชื่อมโยงกับตัวนโยบายของเฟด ที่ล่าสุดประธานเฟดได้ส่งสัญญาณด้านนโยบายการเงิน ที่ว่าจะลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ในปีนี้ และจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในปลายปี 2565 ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องติดตามต่อไป” นายชาญชัยกล่าว

ดูแล้ว กองทุนหุ้นสหรัฐก็คงต้องเผชิญกับความผันผวนระยะสั้นไปอีกสักพัก แต่ระยะยาวก็น่าจะยังเป็นที่นิยมของนักลงทุนอยู่