ปีงบฯ’65 รัฐจะมีหนี้ 2.3 ล้านล้าน “สบน.” ไม่ปิดโอกาสกู้เงินต่างประเทศ

พักหนี้-กู้เงิน

สบน.เผยปีงบฯ’65 รัฐจะมีหนี้ 2.3 ล้านล้านบาท จากหนี้เคยกู้แล้ว จะนำมาบริหาร 1.19 ล้านล้านบาท และแผนก่อหนี้ใหม่ 1.12 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะสิ้นปีงบฯ’65 พุ่ง 62% พร้อมกู้เงินต่างประเทศ หลังกู้เงินในประเทศมากทำตลาดตึงตัว

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะมีหนี้รวม 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ที่กู้แล้ว ซึ่งจะนำมาบริหาร 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในตัวเลขหนี้สาธารณะแล้ว ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 โดยหนี้สาธารณะมีสัดส่วนอยู่ที่ 57.98% ของจีดีพี

และหนี้ที่รัฐบาลจะต้องกู้ใหม่รวม 1.12 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณวงเงิน 7 แสนล้านบาท การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท และการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมาตรา 22 วงเงินประมาณอีก 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% ของจีดีพี

สำหรับการกู้เงินในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท สบน.จะเน้นใช้แหล่งเงินทุนจากในประเทศเป็นหลัก แต่หากตลาดพันธบัตรในประเทศเริ่มตึง ก็จะเปิดช่องในการใช้แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศไว้ ซึ่งยอมรับว่าหลังจากที่มีการกู้เงินในประเทศค่อนข้างเยอะ ตลาดก็ค่อนข้างตึงพอสมควร

ฉะนั้น เงินกู้ในต่างประเทศ หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ สบน.ไม่เคยปิดโอกาศ นอกจากนั้น พันธบัตรความยั่งยืนก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่พิจารณาจะออกอะไรเพิ่มเติมด้วย ส่วนปีที่ผ่านมา ที่มีการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ABD) ก็มีการทยอยเบิกจ่ายครบวงเงินแล้ว

“เราไม่ได้ปิดกั้นการกู้เงินจากแหล่งเงินต่างประเทศ ได้มีการเปิดช่องไว้ แต่เบื้องต้นจะใช้เงินกู้จากแหล่งเงินในประเทศเป็นหลัก พร้อมกับดูสถานการณ์หากเห็นสัญญาณตลาดพันธบัตรในประเทศเริ่มตึง ก็จะใช้แหล่งเงินจากต่างประเทศ

ขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานและสถาบันการเงินต่างประเทศมาเสนอเงื่อนไขการกู้ที่น่าสนใจ ซึ่ง สบน.อาจใช้รูปแบบการออกพันธบัตรในต่างประเทศ ในส่วนของการกู้เงินภายใต้ พ.ร.บ.หนี้ ในโครงการลงทุน เช่น โครงการลงทุนสนามบินอู่ตะเภา”

ขณะที่แผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2565 จะใช้เครื่องมือในทุก ๆ เครื่องมือ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งก็ยังใช้พันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่องมือหลัก ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 3-50 ปี โดยจะใช้เครื่องมือนี้ในการกู้เงิน 1.1-1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 48-56%

และจะมีการเปลี่ยนรุ่นพันธบัตรรัฐบาล ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 6% มีการออกตั๋งเงินคลัง 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 23% การออก P/N และเทอมโลน ประมาณ 3.9-5.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 16-25% และในส่วนของการออกพันธบัตรออมทรัพย์อีก 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 6%

“ปีนี้เราลดการใช้เครื่องมือ P/N และเทอมโลนลง เนื่องจากปีที่แล้ว ใช้เกือบประมาณ 40% ปีนี้จะลดลงมาให้สูงสุดไม่เกิน 25% เพราะอยากใช้พันธบัตรรัฐบาลมากยิ่งขึ้น จะทำให้เรามีการยืดระยะเวลาหนี้ออกไป”

ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทไปแล้ว 2.37 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 2.7 แสนล้านบาท โดย สบน.มีการกู้เงินแล้ว 1.4 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไป 1.3 แสนล้านบาท

ซึ่งเป็นการทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้เงิน เช่น โครงการคนละครึ่ง และอื่น ๆ ส่วนจะมีการกู้เงินในปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างไรนั้น จะต้องติดตามประกอบกับโครงการที่คณะกรรมการกลั่นกรองเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ ซึ่งจะมีการพิจารณาเสนอ ครม.อีกครั้ง