เงินบาทอ่อนค่าตามทิศทางตลาด จับตาผลประชุมเฟด

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/11) ที่ระดับ 33.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/11) ที่ระดับ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์ ตามทิศทางตลาดโลกเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งก่อนผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่วันพรุ่งนี้ตามเวลาไทยโดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะทำให้เฟดสามารถยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงได้ภายในกลางปี 2565 โดยที่ผ่านมาเฟดทำ QE อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือน พร้อมทั้งซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์/เดือน นอกจากนี้ นักลงทุนยังเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลางปีหน้า หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนกันยายน โดย Fed Watch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่านักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 50% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมิถุนายน 2565 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เพียง 15% ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก นอกจากนี้นักลงทุนยังรอดูการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนตุลาคมของสหรัฐในวันศุกร์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะพุ่งขึ้น 450,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม หลังจากที่เพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนตุลาคมจะลดลงสู่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.8% ในเดือนกันยายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี’64 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ 0.5-1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.0-1.0% เนื่องจากนโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 64 และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของ ผู้ประกอบการและประชาชน ช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ส่วนการส่งออกยังคงคาดว่ามีแนวโน้มจะขยายตัวราว 12-14% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0-1.2% ซึ่งมองว่าตัวเลขนี้อยู่ในเงื่อนไขที่ไม่มีการระบาดซ้ำเพิ่มเติมของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.30-33.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.30/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (3/11) ที่ระดับ 1.1578/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/11) ที่ระดับ 1.1590/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดัน หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (INSEE) รายงานว่า ตัวเลขชี้วัดความเชื่อมั่นผู้บริโภคของฝรั่งเศสในเดือน ต.ค.ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 99 จากระดับ 101 ในเดือน ก.ย. โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1575-1.1599 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1590/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/11) ที่ระดับ 113.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับเปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/11) ที่ระดับ 113.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับลดการประเมินเศรษฐกิจของประเทศจากผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.46-114.14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.84/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +1.10/+1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.35/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ